พระสุตตันตปิฎกไทย: 25/328/372
สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
อุปธิ ทำลายอาสวะได้แล้ว พระองค์เป็นดังสีหะไม่มีอุปาทาน ทรงละ
ความกลัวและความขลาดได้แล้วไม่ทรงติดอยู่ในบุญและบาปทั้งสอง
อย่าง เปรียบเหมือนดอกบัวขาบที่งามไม่ติดอยู่ในน้ำฉะนั้น ข้าแต่
พระองค์ผู้มีความเพียร ขอเชิญพระองค์โปรดเหยียบพระบาทออกมาเถิด
สภิยะจะขอถวายบังคมพระบาทของพระศาสดา ฯ
[๓๗๒] ลำดับนั้นแล สภิยปริพาชก หมอบลงแทบพระบาทของพระผู้มีพระภาค
ด้วยเศียรเกล้าแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์
แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรม
โดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตาม
ประทีปในที่มืดด้วยหวังว่าผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ฉะนั้น ข้าพระองค์นี้ขอถึงซึ่งพระผู้มีพระภาค
กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ ว่าเป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอให้ข้าพระองค์
พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเถิด ฯ
พ. ดูกรสภิยะ ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์มาก่อน หวังบรรพชาหวังอุปสมบทใน
ธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน เมื่อล่วง ๔ เดือนไปแล้วภิกษุทั้งหลายพอใจ
จึงยังผู้นั้นผู้อยู่ปริวาสแล้ว ให้บรรพชาอุปสมบทเพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่าเรารู้ความต่างแห่ง
บุคคลในข้อนี้ ฯ
ส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้ที่เคยเป็นอัญญเดียรถีย์มาก่อน หวังบรรพชา หวัง
อุปสมบทในธรรมวินัยนี้ จะต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือน เมื่อล่วง ๔ เดือนภิกษุทั้งหลายพอใจ
จึงยังผู้นั้นผู้อยู่ปริวาสแล้วให้บรรพชาอุปสมบทเพื่อความเป็นภิกษุไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาส
๔ ปี เมื่อล่วง ๔ ปีแล้ว ภิกษุทั้งหลายพอใจขอจงยังข้าพระองค์ผู้อยู่ปริวาสแล้วให้บรรพชา
อุปสมบท เพื่อความเป็นภิกษุเถิด ฯ
สภิยปริพาชก ได้บรรพชา อุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วครั้นท่านสภิยะ
อุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
ไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกบวชเป็น
บรรพชิตโดยชอบต้องการนั้นด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว
พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีกก็ท่าน
สภิยะได้เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลายฉะนี้แล ฯ
จบสภิยสูตรที่ ๖