พระสุตตันตปิฎกไทย: 10/246/313
สุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค
ดูกรท่านกัสสป บุรุษของข้าพเจ้าในที่นี้ จับโจรผู้ประพฤติชั่วหยาบมา แสดงแก่ข้าพเจ้า
ว่า ข้าแต่พระองค์ โจรผู้นี้ประพฤติชั่วหยาบต่อพระองค์ พระองค์ ทรงปรารถนาจะลงอาชญา
อย่างใดแก่โจรผู้นี้ ขอได้ตรัสบอกอาชญานั้นเถิด ข้าพเจ้า บอกบุรุษพวกนั้นอย่างนี้ว่า ถ้าเช่นนั้น
พวกท่านจงเอาตาชั่ง ชั่งบุรุษนี้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ แล้วเอาเชือกรัดให้ขาดใจตาย แล้วเอาตาชั่ง ชั่ง
อีกครั้งหนึ่ง บุรุษพวกนั้นรับคำ ข้าพเจ้าแล้ว เอาตาชั่ง ชั่งบุรุษนั้นผู้ยังมีชีวิตอยู่ แล้วเอาเชือก
รัดให้ขาดใจตาย แล้วเอาตาชั่ง ชั่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อบุรุษนั้นยังมีชีวิตอยู่ย่อมเบากว่า อ่อนกว่า
และควรแก่การงานกว่า แต่เมื่อเขาทำกาละแล้ว ย่อมหนักกว่า กระด้างกว่า และ ไม่ควรแก่การ
งานกว่า ดูกรท่านกัสสป ปริยายแม้นี้แล เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ายังคงมี ความเห็นอยู่อย่างนี้ว่า แม้
เพราะเหตุนี้ โลกหน้าไม่มี เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นไม่มี ผลวิบากของกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี ฯ
[๓๑๓] ดูกรบพิตร ถ้าเช่นนั้น อาตมภาพจักยกอุปมาถวายบพิตร บุรุษ ผู้เป็นวิญญูชน
ในโลกนี้ บางพวกย่อมทราบเนื้อความของคำพูดด้วยอุปมา ดูกร บพิตร เปรียบเหมือนบุรุษเอา
ตาชั่ง ชั่งก้อนเหล็กที่เผาไว้วันยังค่ำ ไฟติดทั่ว ลุก โพลงแล้ว ต่อมา เอาตาชั่ง ชั่งเหล็กนั้น
ซึ่งเย็นสนิทแล้ว เมื่อไรหนอ ก้อนเหล็ก นั้นจะเบากว่า อ่อนกว่า หรือควรแก่การงานกว่า คือว่า
เมื่อไฟติดทั่ว ลุกโพลง อยู่แล้ว หรือว่าเมื่อเย็นสนิทแล้ว ฯ
ดูกรท่านกัสสป เมื่อใดก้อนเหล็กนั้น ประกอบด้วยไฟ ประกอบด้วยลม ไฟติดทั่ว
ลุกโพลงแล้ว เมื่อนั้น จึงจะเบากว่า อ่อนกว่า และควรแก่การงานกว่า แต่เมื่อใดก้อนเหล็กนั้น
ไม่ประกอบด้วยไฟ และไม่ประกอบด้วยลม เย็นสนิทแล้ว เมื่อนั้น จึงจะหนักกว่า กระด้าง
กว่า และไม่ควรแก่การงานกว่า ฯ
ฉันนั้นแหละบพิตร เมื่อใด กายนี้ประกอบด้วยอายุ ไออุ่นและวิญญาณ เมื่อนั้น
ย่อมเบากว่า อ่อนกว่า ควรแก่การงานกว่า แต่ว่า เมื่อใด กายนี้ ไม่ประกอบด้วยอายุ ไออุ่น
และวิญญาณ เมื่อนั้น ย่อมหนักกว่า กระด้างกว่า ไม่ควรแก่การงานกว่า ดูกรบพิตร โดยปริยาย
ของบพิตรนี้แล ต้องเป็นอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ โลกหน้ามีอยู่ เหล่าสัตว์ผู้ผุดเกิดขึ้นมีอยู่
ผลวิบากของกรรม ที่สัตว์ทำดีทำชั่วมีอยู่ ฯ