พระสุตตันตปิฎกไทย: 22/20/25 26
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
วิราคะของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยยถาภูตญาณทัสสนะ ย่อมเป็นธรรมถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย เมื่อ
นิพพิทาและวิราคะมีอยู่วิมุตติญาณทัสสนะของภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยนิพพิทาและวิราคะ ย่อม
เป็นธรรมถึงพร้อมด้วยอุปนิสัย ฯ
จบสูตรที่ ๔
๕. อนุคคหสูตร
[๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิ อันองค์ ๕ อนุเคราะห์แล้ว ย่อมเป็นธรรมมี
เจโตวิมุติเป็นผล มีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ และเป็นธรรมมีปัญญาวิมุติ เป็นผล มีปัญญา
วิมุติเป็นผลานิสงส์ องค์ ๕ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ สัมมาทิฐิอันศีล
อนุเคราะห์แล้ว อันสุตะอนุเคราะห์แล้ว อันการสนทนาธรรมอนุเคราะห์แล้ว อันสมถะอนุเคราะห์
แล้ว อันวิปัสสนาอนุเคราะห์แล้ว ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิอันองค์ ๕ เหล่านี้แล อนุเคราะห์
แล้ว ย่อมมีเจโตวิมุติเป็นผล มีเจโตวิมุติเป็นผลานิสงส์ และมีปัญญาวิมุตติเป็นผล มีปัญญา
วิมุติเป็นผลานิสงส์ ฯ
จบสูตรที่ ๕
๖. วิมุตติสูตร
[๒๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุผู้
ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยวที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้นอาสวะที่ยังไม่สิ้น
ย่อมถึงความสิ้นไป หรือเธอย่อมบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยม ที่ยังไม่ได้บรรลุ เหตุ
แห่งวิมุตติ ๕ ประการเป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายพระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีผู้อยู่ใน
ฐานะครูบางรูป แสดงธรรมแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เธอย่อมเข้าใจอรรถเข้าใจธรรมในธรรมนั้น
ตามที่พระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารี ผู้อยู่ในฐานะครูแสดงแก่เธอ เมื่อเธอเข้าใจอรรถ เข้าใจ
ธรรมย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจเกิดปีติกายย่อมสงบ