สัทธรรมลำดับที่ : 1019
ชื่อบทธรรม : -พิธีปลงบาปด้วยสัมมัตตปฏิปทา(ลักษณะแห่งมิจฉาทิฎฐิ)
เนื้อความทั้งหมด :-พิธีปลงบาปด้วยลักษณะแห่งมิจฉาทิฎฐิ--พราหมณ์ ! อะไรกันหนอ ท่านจึงสระเกล้าในวัดอุโบสถ นุ่งห่ม ผ้าโขมพัสตร์คู่ใหม่ กำหญ้ากุสะสด มายืนอยู่ ณ ที่นี้ ? วันนี้เป็นวันอะไรของพวกสกุลพราหมณ์ ?--“พระโคดมผู้เจริญ ! วันนี้เป็นวันปัจโจโรหณี (ปลงบาป) ของ พวกสกุลพราหมณ์”--พราหมณ์ ! พิธีปัจโจโรหณีของพวกพราหมณ์ เป็นอย่างไรกันเล่า ?--“พระโคดมผู้เจริญ ! ในกรณีนี้ พราหมณ์ทั้งหลายสระเกล้าในวันอุโบสถ นุ่งห่มผ้าโขมพัสตร์คู่ใหม่ ฉาบแผ่นดินด้วยโคมัยสด ปูลาดด้วยหญ้ากุสะสด แล้วสำเร็จการ นอนระหว่างกองกูณฑ์และเรือนไฟ ลุกขึ้นประคองอัญชลีต่อไฟนั้นสามครั้ง ในราตรีนั้น กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้าปลงบาปกะท่านผู้เจริญ, ข้าพเจ้าปลงบาปกะท่านผู้เจริญ” ดังนี้ หล่อเลี้ยงไฟไว้ด้วยเนยใส น้ำมัน เนยข้น อันพอเพียง; ล่วงราตรีนั้นแล้ว เลี้ยงดูพราหมณ์ ทั้งหลายให้อิ่มหนำ ด้วยขาทนียโภชนียะอันประณีต. พระโคดมผู้เจริญ ! พิธีปัจโจโรหณี ของพวกพราหมณ์ เป็นอย่างนี้ แล”.--พราหมณ์ ! พิธีปัจโจโรหณีของพวกพราหมณ์ เป็นอย่างหนึ่ง. ส่วน พิธีปัจโจโรหณีในอริยวินัย เป็นอย่างอื่น; กล่าวคือ พราหมณ์! อริยสาวกในกรณีนี้ พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ว่า “วิบากแห่งมิจฉาทิฏฐินี้แล เป็น ธรรมลามกทั้งในทิฏฐิธรรม (ขณะนี้) และอภิสัมปรายะ (ขณะอื่น)”. ครั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ก็ ละเสียซึ่งมิจฉาทิฏฐิ ปลงลงเสียซึ่งมิจฉาทิฏฐิ. (ในกรณีแห่งมิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ มิจฉาวิมุตติ ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่ง มิจฉาทิฏฐิ). พราหมณ์ ! ปัจโจโรหณีในอริยวินัย เป็นอย่างนี้ แล.--“พระโคดมผู้เจริญ ! ปัจโจโรหณีของพวกพราหมณ์เป็นอย่างหนึ่ง ในอริยวินัย เป็นอย่างอื่น. ปัจโจโรหณีของพวกพราหมณ์ มีค่าไม่เข้าถึงส่วนเสี้ยวที่สิบหกของ ปัจโจโรหณีในอริยวินัยนี้ ”.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ทสก. อํ. 24/251 - 253/119.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ทสก. อํ. ๒๔/๒๕๑ - ๒๕๓/๑๑๙.
ลำดับสาธยายธรรม : 88
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 1020
ชื่อบทธรรม : -หมวด ช. ว่าด้วย อุปกรณ์การปฏิบัติมรรค--รายชื่อแห่งธรรมเป็นที่ตั้งแห่งการขูดเกลา
เนื้อความทั้งหมด :-[ในสูตรนี้ตรัสเรียกพิธีกรรมนี้ว่า “ปัจโจโรหณีในอริยวินัย”; ส่วนในสูตรอื่นๆ (๒๔/๒๕๓,๒๖๙/๑๒๐ ,๑๕๗) ตรัสเรียกว่า “ปัจโจโรหณีอันเป็นอริยะ” ก็มี.--ในสูตรอื่นทรงยกเอากุศลกรรมบถสิบ มาเป็นธรรมเครื่องปลงบาปแทนสัมมัตตะสิบ ก็มี ( ๒๔/๒๖๗ - ๒๖๙/๑๕๖) ].--หมวด ช. ว่าด้วย อุปกรณ์การปฏิบัติมรรค--รายชื่อแห่งธรรมเป็นที่ตั้งแห่งการขูดเกลา--(เรื่องควรดูประกอบในหน้า ๙๑๑, ๙๒๖, ๑๓๐๐, ๑๓๔๑, ๑๓๖๔, ๑๔๑๒, ๑๔๑๔ และในขุม.โอ.หน้า ๓๒๒)--จุนทะ ! สัลเลขธรรม (ความขูดเกลา) เป็นสิ่งที่เธอทั้งหลายพึงกระทำ ในธรรมทั้งหลายเหล่านี้ กล่าวคือ : ---ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ เบียดเบียน เราจักเป็นผู้ ไม่เบียดเบียน;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น กระทำปาณาติบาต เราจัก เว้นขาดจากปาณาติบาต;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น กระทำอทินนาทาน เราจัก เว้นขาดจากอทินนาทาน;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เราจักเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น พูดเท็จ เราจัก เว้นขาดจากการพูดท็จ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น พูดส่อเสียด เราจัก เว้นขาดจากการพูดส่อเสียด;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น พูดคำหยาบ เราจัก เว้นขาดจากการพูดคำหยาบ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น พูดเพ้อเจ้อ เราจัก เว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มากด้วยอภิชฌา เราจักเป็นผู้ ไม่มากด้วยอภิชฌา;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีจิตพยาบาท เราจักเป็นผู้ ไม่มีจิตพยาบาท;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาทิฏิฐิ เราจักเป็นผู้ มีสัมมาทิฏิฐิ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาสังกัปปะ เราจักเป็นผู้ มีสัมมาสังกัปปะ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาวาจา เราจักเป็นผู้ มีสัมมาวาจา;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉากัมมันตะ เราจักเป็นผู้ มีสัมมากัมมันตะ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาอาชีวะ เราจักเป็นผู้ มีสัมมาอาชีวะ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาวายามะ เราจักเป็นผู้ มีสัมมาวายามะ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาสติ เราจักเป็นผู้ มีสัมมาสติ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาสมาธิ เราจักเป็นผู้ มีสัมมาสมาธิ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาญาณะ เราจักเป็นผู้ มีสัมมาญาณะ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีมิจฉาวิมุตติ เราจักเป็นผู้ มีสัมมาวิมุตติ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีถีนมิทธะกลุ้มรุม เราจักเป็นผู้ ปราศจากถีนมิทธะ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ฟุ้งซ่าน เราจักเป็นผู้ ไม่ฟุ้งซ่าน;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่น มีวิจิกิจฉา เราจักเป็นผู้ ข้ามพ้นวิจิกิจฉา;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ มักโกรธ เราจักเป็นผู้ ไม่มักโกรธ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ผูกโกรธ เราจักเป็นผู้ ไม่ผูกโกรธ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ลบหลู่คุณ เราจักเป็นผู้ ไม่ลบหลู่คุณ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ แข่งดี เราจักเป็นผู้ ไม่แข่งดี;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ริษยา เราจักเป็นผู้ ไม่ริษยา;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ตระหนี่ เราจักเป็นผู้ ไม่ตระหนี่;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ โอ้อวด เราจักเป็นผู้ ไม่โอ้อวด;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ มีมารยา เราจักเป็นผู้ ไม่มีมารยา;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ กระด้าง เราจักเป็นผู้ ไม่กระด้าง;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ดูหมิ่นท่าน เราจักเป็นผู้ ไม่ดูหมิ่นท่าน;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ว่ายาก เราจักเป็นผู้ ว่าง่าย;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ มีมิตรชั่ว เราจักเป็นผู้ มีมิตรดี;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ประมาท เราจักเป็นผู้ ไม่ประมาท;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ไม่มีสัทธา เราจักเป็นผู้ มีสัทธา;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ไม่มีหิริ เราจักเป็นผู้ มีหิริ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ไม่มีโอตตัปปะ เราจักเป็นผู้ มีโอตตัปปะ;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ มีสุตะน้อย เราจักเป็นผู้ มีสุตะมาก;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ขี้เกียจ เราจักเป็นผู้ ปรารภความเพียร;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ มีสติหลงลืม เราจักเป็นผู้ มีสติตั้งมั่น;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ มีปัญญาทราม เราจักเป็นผู้ ถึงพร้อมด้วยปัญญา;--ทำสัลเลขะว่า เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ลูบคลำด้วยทิฏฐิของตน (สนฺทิฏฺฐิปรามาสี) เป็น ผู้ยึดถืออย่างเหนียวแน่น (อาธานคาหี) และเป็นผู้ยากที่จะสลัดคืนซึ่งอุปาทาน (ทุปฺปฏินิสฺสคฺคี) เราจักเป็นผู้ ไม่ลูบคลำด้วยทิฏฐิของตน (อสนฺทิฏฺฐิปรามาสี) เป็นผู้ไม่ยึดถืออย่างเหนียวแน่น (อนาธานคาหี) และเป็นผู้ง่ายที่จะสลัดคืนซึ่ง อุปทาน (สุปฺปฏินิสฺสคฺคี).--(ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า ธรรมที่ทรงแสดงไว้ในบาลีเกี่ยวกับการขูดเกลานี้ มีอยู่ ๔๔ คู่ เป็นคู่แห่งความตรงกันข้าม คือฝ่ายหนึ่งเป็นอกุศลไม่ควรกระทำ ฝ่ายหนึ่งเป็นกุศลที่ควรกระทำ ดังนั้นจึงเป็นการขูดเกลากันอยู่ในตัว เพราะความเป็นของตรงกันข้าม เรียกว่าธรรมเป็นเครื่องขูดเกลา ๔๔ อย่าง กับธรรมที่ควรขูดเกลา ๔๔ อย่างเป็นคู่กันไป. โดยอาศัยหลักที่มีอยู่ ๔๔ คู่นี้ พระองค์ได้ตรัสถึงธรรมปริยายอื่นๆ ต่อไปอีกคือ : -)--ก. จิตตุปปาทปริยาย--การกระทำจิตให้เกิดขึ้นโดยนัยยะ ๔๔ คู่ เป็นต้นว่า “เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ เบียดเบียน เราจักเป็นผู้ ไม่เบียดเบียน” เรื่อยไปจนกระทั่งถึงคู่สุดท้าย ว่า “เมื่อผู้อื่นเป็นผู้ ลูบคลำด้วยทิฏฐิของตน (สนฺทิฏฺฐิปรามาสี) เป็นผู้ยึดถืออย่างเหนียวแน่น (อาธานคาหี) และเป็นผู้ยากที่จะสลัดคืนซึ่งอุปาทาน (ทุปฺปฏินิสฺสคฺคี) เราจักเป็นผู้ ไม่ลูบคลำ--ด้วยทิฏฐิของตน (อสนฺทิฏฺฐิปรามาสี) เป็นผู้ไม่ยึดถืออย่างเหนียวแน่น (อนาธานคาหี) และเป็นผู้ง่ายที่จะสลัดคืนซึ่งอุปาทาน (สุปฺปฏินิสฺสคฺคี)” ดังนี้นั้น ยังได้ตรัสอีกว่า เพียงแต่ ตั้งจิตตุปบาทไว้ดังนี้ ก็เป็นการทำที่มีอุปการะมาก เสียแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึง การที่ได้ทำสำเร็จลงไปตามนั้นด้วยกายและด้วยวาจา. การเอาธรรม ๔๔ คู่นั้นมาทำไว้ในความคิด เรียกว่า จิตตุปปาทธัมมปริยาย.--ข. ปริกกมนปริยาย--การทำจิตให้หลีกออกมาเสียจากธรรมฝ่ายอกุศล มาอยู่ในธรรมฝ่ายกุศล เช่นคนหลีกทางผิดมาเดินอยู่ในทางถูก ดังนี้เรียกว่า ปริกกมนา. ธรรม ๔๔ คู่ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง ฝ่ายแรกเป็นฝ่ายผิด ฝ่ายหลังเป็นฝ่ายถูก จึงมีพระบาลีวางไว้เป็นคู่แรก ว่า “ความไม่เบียดเบียน เป็นการหลีกออกจากทางผิดของบุคคลผู้มีการเบียดเบียน” เรื่อยไปจนถึงคู่สุดท้ายที่ว่า ความเป็นผู้ไม่ลูบคลำด้วยทิฏฐิของตน ไม่ยึดถืออย่างเหนียวแน่น และง่ายที่จะสลัดคืนซึ่งอุปาทาน เป็นการหลีกออกจากทางผิดของบุคคลผู้ลูบคลำ ด้วยทิฏฐิของตน ยึดถืออย่างเหนียวแน่น และยากที่จะสลัดคืนซึ่งอุปทาน” การกระทำอย่างนี้ทั้ง ๔๔ คู่ เรียกว่า ปริกกมนธัมปริยาย.--ค. อุปริภาวังคมนปริยาย--ในธรรม ๔๔ คู่ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ฝ่ายแรกหรือฝ่ายผิด เป็น อโธภาวังคมนียธรรม (นำไปสู่ฝ่ายต่ำ) ฝ่ายหลังหรือฝ่ายถูก เป็น อุปริภาวังคมนียธรรม (นำไปสู่ฝ่ายสูง) จึงมีพระบาลีวางไว้เป็นคู่แรกว่า “ความไม่เบียดเบียน เป็นธรรมนำไปสู่ภาวะฝ่ายสูง ของบุคคลผู้มีการเบียดเบียน” ดังนี้เรื่อยไปจนถึงคู่สุดท้ายว่า “ความไม่เป็นผู้ไม่ลูบคลำด้วยทิฏฐิของตน ไม่ยึดถืออย่างเหนียวแน่น และง่ายที่จะสลัดคืนซึ่งอุปาทาน เป็นธรรมนำไปสู่ภาวะฝ่ายสูงของบุคคลผู้ลูบคลำด้วยทิฏฐิของตน ยึดถืออย่าง--เหนียวแน่น และยากที่จะสลัดคืนซึ่งอุปาทาน”. การกระทำอย่างนี้ทั้ง ๔๔ คู่ เรียกว่า อุปริภาวังคมนธัมมปริยาย.--ง. ปรินิพพานปริยาย--ในธรรม ๔๔ คู่ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ฝ่ายแรกหรือฝ่ายผิดเป็นฝ่ายไม่ดับเย็น ฝ่ายหลังหรือฝ่ายถูกเป็นฝ่ายดับเย็น (ปรินิพพาน) ดังนั้นจึงมีพระบาลีวางไว้เป็นคู่แรก ว่า “ความไม่เบียดเบียน เป็นไปเพื่อความดับเย็นของบุคคลผู้มีการเบียดเบียน” ดังนี้เรื่อยไปจนถึงคู่สุดท้าย ว่า “ความเป็นผู้ไม่ลูบคลำด้วยทิฏฐิของตน ไม่ยึดถืออย่างเหนียวแน่น และง่ายที่จะสลัดคืนซึ่งอุปาทาน เป็นไปเพื่อความดับเย็นของบุคคลผู้ลูบคลำด้วยทิฏฐิของตน ยึดถืออย่างเหนียวแน่น และยากที่จะสลัดคืนซึ่ง อุปาทาน” การกระทำอย่างนี้ทั้ง ๔๔ คู่ เรียกว่า ปรินิพพานปริยาย. ข้อความตอนนี้ มีตรัสไว้พิเศษ ว่า ผู้ไม่ดับเย็นจะช่วยให้ผู้อื่นดับเย็นนั้นเป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกับผู้ติดหล่ม จะยกผู้อื่นขึ้นจากหล่มไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มู. ม. 12/75 - 83/104 - 108.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มู. ม. ๑๒/๗๕ - ๘๓/๑๐๔ - ๑๐๘.
ลำดับสาธยายธรรม : 88
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 1021
ชื่อบทธรรม : -องค์คุณที่ทำให้เจริญงอกงามไพบูลย์ในพรหมจรรย์--(อุปกรณ์แห่งการปฏิบัติมรรค)
เนื้อความทั้งหมด :-(รายชื่อแห่งธรรมเป็นเครื่องขูดเกลา ๔๔ คู่นี้ ไม่ได้ใช้เพื่ออธิบายเกี่ยวกับการขูดเกลาอย่างเดียว แต่ใช้เพื่ออธิบายในการประพฤติกระทำอย่างอื่นด้วย ดังที่ได้แยกไว้เป็น ข้อ ก. ข. ค. ง. ในตอนท้าย; ผู้ที่ตั้งใจจะศึกษาจริงๆ พึงกำหนดให้ชัดเจนว่ามีลำดับอย่างไร เป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูกอย่างไร ก็จะสามารถเข้าใจข้อความที่ละไว้ โดยไม่นำมาใส่ไว้ให้เต็ม เช่น อ้างถึงแต่ข้อต้น และ ข้อสุดท้าย เป็นต้น, ก็จะสำเร็จประโยชน์ได้ตามปรารถนา).--องค์คุณที่ทำให้เจริญงอกงามไพบูลย์ในพรหมจรรย์--(อุปกรณ์แห่งการปฏิบัติมรรค)--ภิกษุ ท. ! คนเลี้ยงโค ที่ประกอบด้วยองคคุณ ๑๑ อย่างแล้ว ย่อมเหมาะสมที่จะเลี้ยงโค ทำให้เพิ่มกำไรได้. องคคุณ ๑๑ อย่าง อะไรบ้างเล่า ?--สิบเอ็ดอย่างคือ คนเลี้ยงโคในกรณีนี้ เป็นผู้รู้จักเรื่องร่างกายของโค, เป็นผู้ ฉลาดในลักษณะของโค, เป็นผู้เขี่ยไข่ขาง, เป็นผู้ปิดแผล, เป็นผู้สุมควัน, เป็นผู้รู้จักท่าที่ควรนำโคไป, เป็นผู้รู้จักน้ำที่โคควรดื่ม, เป็นผู้รู้จักทางที่โค ควรเดิน, เป็นผู้ฉลาดในที่ที่โคควรไป, เป็นผู้รู้จักรีดนมโคให้มีเหลือไว้บ้าง, เป็นผู้ให้เกียรติแก่โคอุสภ อันเป็นโคพ่อฝูง เป็นโคนำฝูง ด้วยการเอาใจใส่เป็นพิเศษ. ภิกษุ ท. ! คนเลี้ยงโคที่ประกอบด้วยองคคุณ ๑๑ อย่างนี้แล้ว ย่อมเหมาะสมที่จะเลี้ยงโค ทำให้เพิ่มกำไรได้. ข้อนี้ฉันใด ;--ภิกษุ ท. ! ภิกษุ ที่ประกอบด้วยองคคุณ ๑๑ ประการแล้ว ย่อมเหมาะสมที่จะถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัย (พรหมจรรย์) นี้ได้ ฉันนั้น. องคคุณ ๑๑ ประการ อย่างไรบ้างเล่า? สิบเอ็ดประการคือ ภิกษุ ในกรณีนี้ เป็นผู้รู้จักรูป, เป็นผู้ฉลาดในลักษณะ, เป็นผู้คอยเขี่ยไข่ขาง, เป็นผู้ปิดแผล, เป็นผู้สุมควัน, เป็นผู้รู้จักท่าที่ควรไป, เป็นผู้รู้จักน้ำที่ควรดื่ม, เป็นผู้รู้จักทางที่ควรเดิน, เป็นผู้ฉลาดในที่ที่ควรไป, เป็นผู้รู้จักรีด “นมโค” ให้มีส่วนเหลือไว้บ้าง, เป็นผู้บูชาอย่างยิ่งในภิกษุทั้งหลาย ผู้เถระ มีพรรษายุกาล บวชนาน เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ ด้วยการบูชาเป็นพิเศษ.--พวกรู้จักรูป--ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ รู้จักรูป เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “รูปชนิดใดก็ตาม ทั้งหมดนั้น ชื่อว่า รูป คือ มหาภูตรูปมี ๔ และอุปาทายรูปคือรูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้งสี่” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้รู้จักรูป เป็นอย่างนี้แล.--พวกฉลาดในลักษณะ--ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ ฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า “คนพาล มีกรรม (การกระทำ) เป็นเครื่องหมาย, บัณฑิต ก็มีกรรม (การกระทำ) เป็นเครื่องหมาย” ดังนี้เป็นต้น. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในลักษณะ เป็นอย่างนี้แล.--พวกคอยเขี่ยไข่ขาง--ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ คอยเขี่ยไข่ขาง เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ อดกลั้นได้ ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้หมดสิ้น ซึ่งความ ตรึกเกี่ยวด้วยกาม, ความตรึกเกี่ยวด้วยความมุ่งร้าย, ความตรึกเกี่ยวด้วยการทำความลำบากให้แก่ตนเองและผู้อื่นแม้โดยไม่เจตนา ที่เกิดขึ้นแล้ว; และอดกลั้นได้ ละ บรรเทา ทำให้สิ้นสุด ทำให้หมดสิ้น ซึ่งสิ่งอันเป็นอกุศลลามกทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้ว. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้คอยเขี่ยไข่ขาง เป็นอย่างนี้ แล.--พวกปิดแผล--ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ ปิดแผล เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เห็นรูปด้วยตา, ฟังเสียงด้วยหู, ดมกลิ่นด้วยจมูก, ลิ้มรสด้วยลิ้น, สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย, รู้ธรรมมารมณ์ด้วยใจ, แล้วไม่มีจิตยึดถือเอาทั้งโดยลักษณะที่เป็นการรวบถือทั้งหมด และการถือเอาโดยการแยกเป็นส่วน ๆ, สิ่งที่อกุศลลามกคืออภิชฌาและโทมนัส จะพึงไหลไปตามผู้ที่ ไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะการไม่สำรวมอินทรีย์ใดเป็นเหตุ, เธอ--ก็ปฏิบัติ เพื่อปิดกั้นอินทรีย์นั้นไว้, เธอรักษาและถึงการสำรวม ตา หู จมูกลิ้น กาย ใจ. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ปิดแผล เป็นอย่างนี้แล.--พวกสุมควัน--ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ สุมควัน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้แสดงธรรม ตามที่ได้ฟัง ได้เล่าเรียนมาแล้ว แก่ผู้อื่นโดยพิสดาร. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้สุมควัน เป็นอย่างนี้แล.--พวกรู้จักท่าที่ควรไป--ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ รู้จักท่าที่ควรไป เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เมื่อเข้าไปหาภิกษุผู้เป็นพหุสูต คล่องแคล่วในหลักพระพุทธวจนะ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา (แม่บท), ก็ไต่ถาม ไล่เลียงโดยทำนองนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ! พระพุทธวจนะนี้ เป็นอย่างไร ? ความหมายแห่งพระพุทธวจนะนี้มีอย่างไร ?” ดังนี้เป็นต้น ตามเวลาอันสมควร ; ท่านพหุสูตเหล่านั้น จึงทำข้อความที่ยังลี้ลับให้เปิดเผย ทำข้อความอันลึกซึ้ง ให้ตื้น และบรรเทา ถ่ายถอน ความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยนานาประการให้แก่ภิกษุนั้นได้. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้รู้จักท่าที่ควรไปเป็นอย่างนี้แล.--พวกที่รู้จักน้ำที่ควรดื่ม--ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ รู้จักน้ำที่ควรดื่ม เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศไว้แล้ว อันผู้ใดผู้หนึ่งแสดง--อยู่ เธอได้ความรู้อรรถ ได้ความรู้ธรรม และได้ความปราโมทย์อันอาศัยธรรม. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้รู้จักน้ำที่ควรดื่ม เป็นอย่างนี้แล.--พวกรู้จักทางที่ควรเดิน--ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ รู้จักทางที่ควรเดิน เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดแจ้งตามที่เป็นจริง ซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้รู้จักทางที่ควรเดิน เป็นอย่างนี้แล.--พวกฉลาดในที่ที่ควรไป--ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ ฉลาดในที่ที่ควรไป เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมรู้ชัดแจ้งตามที่เป็นจริง ซึ่งสติปัฏฐาน ๔. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ฉลาดในที่ที่ควรไป เป็นอย่างนี้แล.--พวกรีด “นมโค” ให้มีส่วนเหลือ--ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ รู้จักรีด “นมโค” ให้มีส่วนเหลือไว้บ้าง เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! พวกคฤหัสถ์ผู้มีศรัทธา ย่อมปวารณาไม่มีขีดขั้น แก่ภิกษุในกรณีนี้ ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัช บริกขาร. ในการที่เขาปวารณาเช่นนั้น, ภิกษุ เป็นผู้รู้จักประมาณในการรับปัจจัย ๔ มีจีวรเป็นต้นเหล่านั้น. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้รู้จักรีด “นมโค” ให้มีส่วนเหลือไว้บ้าง เป็นอย่างนี้แล.--พวกบูชาผู้เฒ่า--ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้ บูชาอย่างยิ่งในภิกษุทั้งหลายผู้เถระ มีพรรษายุกาล เป็นผู้นำสงฆ์เป็นบิดาสงฆ์ ฯลฯ ด้วยการบูชาเป็นพิเศษ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปตั้งไว้ซึ่งการกระทำทางกาย การกระทำทางวาจา และการกระทำทางใจ อันประกอบด้วยเมตตา ในภิกษุทั้งหลายผู้เถระ มีพรรษายุกาล บวชนาน เป็นบิดาสงฆ์ เป็นผู้นำสงฆ์ ทั้งในที่แจ้งและทั้งในที่ลับ. ภิกษุ ท. ! ภิกษุเป็นผู้บูชาอย่างยิ่งในภิกษุทั้งหลายผู้เถระ ฯลฯ ด้วยการบูชาเป็นพิเศษ เป็นอย่างนี้แล.--ภิกษุ ท. ! ภิกษุ ที่ประกอบด้วยองคคุณ ๑๑ ประการเหล่านี้แล้ว ย่อมเหมาะสมที่จะถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ในธรรมวินัย (พรหมจรรย์) นี้ได้แท้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มู. ม. 12/413 - 414/386 - 387.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มู. ม. ๑๒/๔๑๓ - ๔๑๔/๓๘๖ - ๓๘๗.
ลำดับสาธยายธรรม : 88
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 1022
ชื่อบทธรรม : -อัฏฐังคิกมัคคปฏิบัติ ต้องอาศัยที่ตั้งคือศีล
เนื้อความทั้งหมด :-อัฏฐังคิกมัคคปฏิบัติ ต้องอาศัยที่ตั้งคือศีล--ภิกษุ ท. ! การงานใดๆ ที่ต้องกระทำด้วยกำลัง, การงานเหล่านั้นทั้งหมดต้องกระทำด้วยกำลัง กระทำได้เมื่ออาศัยซึ่งแผ่นดิน ยืนอยู่บนแผ่นดิน, ข้อนี้ฉันใด; ภิกษุ ท. ! ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล ย่อมเจริญ กระทำให้มากได้ ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรค, ฉันนั้นเหมือนกัน.--ภิกษุ ท. ! อย่างไรเล่า เรียกว่า ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล ย่อมเจริญ กระทำให้มากได้ ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรค ?--ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อการสลัดคืน (ซึ่งอุปทานขันธ์); เจริญสัมมาสังกัปปะ .... เจริญสัมมาวาจา .... เจริญสัมมากัมมันตะ .... เจริญสัมมา - อาชีวะ .... เจริญสัมมาวายามะ .... เจริญสัมมาสติ .... เจริญสัมมาสมาธิ อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อการสลัดคืน (ซึ่งอุปาทานขันธ์) .--ภิกษุ ท. ! อย่างนี้แล เรียกว่า ภิกษุอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล ย่อมเจริญ กระทำให้มากได้ ซึ่งอริยอัฏฐังคิกมรรค.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. 19/68/264 - 265.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. ๑๙/๖๘/๒๖๔ - ๒๖๕.
ลำดับสาธยายธรรม : 88
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 1023
ชื่อบทธรรม : -หลักเกณฑ์การเลือกสถานที่และบุคคลที่ควรเสพไม่ควรเสพ--(อันเป็นอุปกรณ์แห่งมรรค)--การเลือกที่อยู่ในป่า (วนปัตถ์)
เนื้อความทั้งหมด :-[ศีลอันเป็นที่ตั้งพื้นฐานในที่นี้ มิได้หมายถึงศีลที่มีรวมอยู่ในอัฏฐังคิกมรรค, หาก แต่เป็นศีลพื้นฐาน เช่นศีลห้า อุโบสถศีล อันยังมิได้ปรารภวิเวก – วิราค – นิโรธ – โวสสัคคะ.--ลักษณะแห่งการเจริญอริยมรรคนั้น กล่าวไว้หลายวิธี : ในที่อื่น กล่าวว่า เจริญองค์แห่งมรรคแต่ละองค์ๆ อย่างที่ มีการนำออกซึ่งราคะเป็นที่สุดรอบ (ราควินยปริโยสาน) มีการนำออกซึ่งโทสะเป็นที่สุดรอบ (โทสวินยปริโยสาน) มีการนำออกซึ่งโมหะเป็นที่สุดรอบ (โมหวินย-ปริโยสาน) (๑๙/๖๘ – ๖๙/๒๖๖ - ๒๖๗) ; ในที่อื่นว่า เจริญองค์แห่งอริยมรรค อย่างที่ มีอมตะเป็นที่หยั่งลง (อมโตคธ) มีอมตะเป็นที่ไปในเบื้องหน้า (อมตปรายน) มีอมตะเป็นที่ สุดรอบ (อมตปริโยสาน) (๑๙/๖๙ /๒๖๘ - ๒๖๙) ; ในที่อื่นแสดงลักษณะแห่งองค์อริยมรรคว่า เอียงไปสู่นิพพาน (นิพฺพานนินฺน) น้อมไปสู่นิพพาน (นิพฺพานโปณ) ลาดลุ่มไปสู่นิพพาน (นิพฺพานปพฺภาร) (๑๙/๖๙ – ๗๐/๒๗๐ - ๒๗๑) ; ต่างกันอยู่เป็นสี่รูปแบบดังนี้ ล้านแต่เป็นที่ น่าสนใจนำไปพิจารณา.--กิริยาที่ผู้ปฏิบัติต้องอาศัยศีลเป็นที่ตั้ง มีอุปมาเหมือนการทำงานต้องอาศัยเหยียบแผ่นดินเป็นที่ตั้ง นั้น ยังอุปมาแปลกออกไป เหมือนการที่พฤกษาชาติทั้งหลายต้องอาศัยแผ่นดิน เป็นที่งอกงาม ก็มี (๑๙/ ๗๐/๒๗๒ - ๒๗๓) และ เหมือนพวกนาคอาศัยซอกเขาหิมพานต์เป็นที่เกิดเป็นที่เจริญ ก็มี (๑๙/๗๑/๒๗๔ - ๒๗๕) ; ล้วนแต่มีความหมายอย่างเดียวกันว่า ว่าต้องมีที่ตั้ง ที่อาศัย].--หลักเกณฑ์การเลือกสถานที่และบุคคลที่ควรเสพไม่ควรเสพ--(อันเป็นอุปกรณ์แห่งมรรค)--การเลือกที่อยู่ในป่า (วนปัตถ์)--ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัย วนปัตถ์ (ป่าทึบ) แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, สติที่ยังตั้งขึ้นไม่ได้ ก็ไม่ตั้งขึ้นได้, จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น, อาสวะที่ยังไม่สิ้นก็ไม่ถึงความสิ้น, และอนุตตรโยคักเขมธรรมที่ยังไม่บรรลุก็ไม่บรรลุ, ทั้งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจยเภสัชชบริขาร อันบรรพชิตพึงแสวงหามาเพื่อเป็นบริขารของชีวิต ก็หามาได้โดยยาก. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ดังนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน พึงหลีกไปเสียจากวนปัตถ์นั้น, อย่าอยู่เลย.--ภิกษุ ท. ! อนึ่ง ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัย วนปัตถ์ แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, สติที่ยังตั้งขึ้นไม่ได้ ก็ไม่ตั้งขึ้นได้, จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น, อาสวะที่ยังไม่สิ้นก็ไม่ถึงความสิ้น, และอนุตตรโยคักเขมธรรมที่ยังไม่บรรลุก็ไม่บรรลุ; แต่ว่า จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจยเภสัชชบริขาร อันบรรพชิตพึงแสวงหามาเพื่อเป็นบริขารของชีวิต ก็หามาได้โดยไม่ยาก. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ดังนี้แล้ว คิดว่า “เราเป็นผู้ออกจากเรือนบวชเพราะเหตุแห่งจีวรก็หามิได้ เพราะเหตุแห่งบิณฑบาตก็หามิได้ เพราะเหตุแห่งเสนาสนะก็หามิได้ เพราะเหตุแห่ง คิลานปัจจยเภสัชชบริขารก็หามิได้”; ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ภิกษุนั้น พึงหลีกไปจากวนปัตถ์นั้น, อย่าอยู่เลย.--ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัย วนปัตถ์ แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, สติที่ยังตั้งขึ้นไม่ได้ ก็ตั้งขึ้นได้, จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น, อาสวะที่ยังไม่สิ้น--ก็ถึงความสิ้น, และอนุตตรโยคักเขมธรรมที่ยังไม่บรรลุก็บรรลุ; แต่ว่าจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจยเภสัชชบริขาร อันบรรพชิตพึงแสวงหามาเพื่อเป็นบริขารของชีวิตนั้น ก็หามาได้โดยยาก. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ดังนี้แล้ว คิดว่า “เรามิได้ ออกจากเรือนบวช เพราะเหตุแห่งจีวร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต เพราะเหตุแห่งเสนาสนะ เพราะเหตุแห่งคิลานปัจจยเภสัชชบริขาร”; ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ภิกษุนั้น พึงอยู่ในวนปตถ์นั้นอย่าหลีกไปเสียเลย.--ภิกษุ ท. ! อนึ่ง ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัย วนปัตถ์ แห่งใดแห่งหนึ่งอยู่, สติที่ยังตั้งขึ้นไม่ได้ ก็ตั้งขึ้นได้, จิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น, อาสวะที่ยังไม่สิ้นก็ถึงความสิ้น, และอนุตตรโยคักเขมธรรมที่ยังไม่บรรลุก็บรรลุ; ทั้งจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจยเภสัชชบริขาร อันบรรพชิตจะแสวงหามาเพื่อเป็นบริขารของชีวิตนั้น ก็หามาได้โดยไม่ยาก. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้น พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ดังนี้ พึงอยู่ในวนปัตถ์นั้น จนตลอดชีวิต, อย่าหลีกไปเสียเลย.--(ในกรณีแห่ง การเลือกหมู่บ้าน นิคม นคร ชนบท และบุคคล ที่ควรเสพหรือไม่ควรเสพ ก็ได้ตรัสไว้โดยหลักเกณฑ์อย่างเดียวกัน)-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มู. ม. 12/212 - 218/235 - 242.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มู. ม. ๑๒/๒๑๒ - ๒๑๘/๒๓๕ - ๒๔๒.
ลำดับสาธยายธรรม : 88
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site