สัทธรรมลำดับที่ : 884
ชื่อบทธรรม : -(นัยที่สอง)เจริญอานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมแทงตลอดอกุปปธรรม (สมุจเฉทวิมุตติ) ได้ต่อกาลไม่นานเทียว
เนื้อความทั้งหมด :-(นัยที่สอง)--ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้ เจริญอานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมแทงตลอดอกุปปธรรม (สมุจเฉทวิมุตติ) ได้ต่อกาลไม่นานเทียว. ห้าประการ อย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ห้าประการคือ ในกรณีนี้ ภิกษุ :--เป็นผู้มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย เลี่ยงง่าย สันโดษในบริกขารแห่งชีวิต ๑ ;--เป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบตนอยู่ในความเป็นผู้มีท้องอันพร่อง ๑ ;--เป็นผู้ไม่มีความมึนชา ประกอบตนอยู่ในความตื่น ๑ ;--เป็นผู้ ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งกถาอันเป็นไป เพื่อการขัดเกลากิเลส เป็นที่สบายแก่ธรรมเป็นเครื่องเปิดโล่งแห่งจิต กล่าวคือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปริเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลากถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ๑ ;--พิจารณาเห็นเฉพาะอยู่ซึ่งจิตอันหลุดพ้นแล้ว (ตามลำดับ) อย่างไร ๑.--ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้เจริญอานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ เหล่านี้แล ย่อมแทงตลอดอกุปปธรรมได้ ต่อกาลไม่นานเทียว.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ปญฺจก. อํ. 22/136/97.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๓๖/๙๗.
ลำดับสาธยายธรรม : 71
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 885
ชื่อบทธรรม : -(นัยที่สาม)เจริญอานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมแทงตลอดอกุปปธรรม (สมุจเฉทวิมุตติ) ได้ต่อกาลไม่นานเทียว
เนื้อความทั้งหมด :-(นัยที่สาม)--ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้ กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วย ธรรม ๕ ประการ ย่อมแทงตลอด อกุปปธรรม (สมุจเฉทวิมุตติ) ได้ต่อกาลไม่นานเทียว. ห้าประการอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ห้าประการคือ ในกรณีนี้ภิกษุ : เป็นผู้มีความต้องการน้อย มีกิจน้อย เลี้ยงง่าย สันโดษในบริกขารแห่งชีวิต ๑ ;--เป็นผู้มีอาหารน้อย ประกอบตนอยู่ในความเป็นผู้มีท้องอันพร่อง ๑;--เป็นผู้ไม่มีความมึนชา ประกอบตนอยู่ในความตื่น ๑;--เป็นผู้อยู่ป่า มีเสนาสนะอันสงัด ๑ ;--พิจารณาเห็นเฉพาะอยู่ซึ่งจิตอันหลุดพ้นแล้ว (ตามลำดับ) อย่างไร ๑.--ภิกษุ ท. ! ภิกษุผู้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติ ซึ่งประกอบด้วย ธรรม ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมแทงตลอดอกุปปธรรม ได้ต่อกาลไม่นานเทียว.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ปญฺจก. อํ. 22/136/98.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ปญฺจก. อํ. ๒๒/๑๓๖/๙๘.
ลำดับสาธยายธรรม : 71
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 886
ชื่อบทธรรม : -ฐานที่ตั้งแห่งความมีสัมปชัญญะ ๑๙ ฐาน
เนื้อความทั้งหมด :-ฐานที่ตั้งแห่งความมีสัมปชัญญะ ๑๙ ฐาน--อานนท์ ! อย่างไรเล่า ชื่อว่า ภิกษุกระทำจิตในภายในนั่นแหละ ให้เป็นจิตตั้งอยู่อย่างสม่ำเสมอ ให้เป็นจิตหยุดพัก ให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว ให้เป็นจิตตั้งมั่น ? อานนท์ ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามสงัดจากอกุศลธรรมจึง เข้าถึงปฐมฌาน .... ทุติยฌาน .... ตติยฌาน .... จตุตถฌาน แล้วแลอยู่. อานนท์ ! อย่างนี้แล ชื่อว่าภิกษุกระทำจิตในภายในนั่นแหละ ให้เป็นจิตตั้งอยู่อย่างสม่ำเสมอ ให้เป็นจิตหยุดพัก ให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว ให้เป็นจิตตั้งมั่น. ภิกษุ นั้น ย่อมกระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นภายใน.--เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายในอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อ สุญญตาอันเป็นภายใน ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายในอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายใน ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ไม่น้อมไป” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อม (สมฺปชาน) ในกรณีที่จิตไม่น้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นภายในนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่หนึ่ง).--ภิกษุนั้น ย่อมกระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นภายนอก. เมื่อเธอ กระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายนอกอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็น--ภายนอก ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายนอกอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายนอก ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตไม่น้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นภายนอกนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สอง).--ภิกษุนั้น ย่อมกระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอก. เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายในและภายนอกอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอก ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอก ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป“ ดังนี้: ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้รู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตไม่น้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอกนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สาม).--ภิกษุนั้น ย่อมกระทำในใจซึ่ง อาเนญชะ. เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งอาเนญชะอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่ออาเนญชะ ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งอาเนญชะอยู่, จิตไม่แล่นไปเพื่ออาเนญชะ ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตไม่น้อมไปสู่อาเนญชะนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สี่).--อานนท์ ! ภิกษุนั้น พึงกระทำจิตในภายในนั้นแหละให้ตั้งมั่นอยู่ อย่างสม่ำเสมอ ในสมาธินิมิตที่เคยมีมาแล้วในกาลก่อน (คือในรูปสัญญาทั้งสี่ที่กล่าวแล้ว--ข้างต้น) นั้น นั่นเทียว พึงให้เป็นจิตหยุดพัก พึงให้เป็นจิตมีอารมณ์เดียว พึงให้เป็นจิตตั้งมั่น.--ภิกษุนั้น กระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นภายใน (ในรูปสัญญาทั้งสี่). เมื่อ เธอกระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายในอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายใน ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายในอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายใน ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น”ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตน้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นภายในนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่ห้า).--ภิกษุนั้น กระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นภายนอก. เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายนอกอยู่. จิตก็แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายนอกย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นภายนอกอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นภายนอก ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตน้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นภายนอกนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะฐานที่หก).--ภิกษุนั้น กระทำในใจซึ่ง สุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอก. เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่, จิตก็แล่นไป--เพื่อสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอก ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอกอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่อสุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอก ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่า เป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตน้อมไปสู่สุญญตาอันเป็นทั้งภายในและภายนอกนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่เจ็ด)--ภิกษุนั้น กระทำในใจซึ่ง อาเนญชะ เมื่อเธอกระทำในใจซึ่งอาเนญชะอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่ออาเนญชะ ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “เมื่อเรากระทำในใจซึ่งอาเนญชะอยู่, จิตก็แล่นไปเพื่ออาเนญชะ ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ ย่อมหลุดพ้น” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีที่จิตน้อมไปสู่อาเนญชะนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่แปด).--อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตน้อมไปเพื่อ การ เดิน; เธอก็ เดินด้วยการตั้งจิตว่า “บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ไหลไปตามเราผู้เดินอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งการเดิน นั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่เก้า).--อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตน้อมไปเพื่อ การยืน; เธอก็ ยืนด้วยการตั้งใจว่า “บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคืออภิชฌา--และโทมนัส จักไม่ไหลไปตามเราผู้ยืนอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งการยืนนั้น (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบ).--อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตน้อมไปเพื่อ การนั่ง; เธอก็ นั่งด้วยการตั้งใจว่า “บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ไหลไปตามเราผู้นั่งอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งการนั่งนั้น.(นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบเอ็ด).--อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตน้อมไปเพื่อ การนอน ; เธอก็ นอนด้วยการตั้งใจว่า “บาปอกุศลธรรมทั้งหลาย กล่าวคืออภิชฌาและโทมนัส จักไม่ไหลไปตามเราผู้นอนอยู่ ด้วยอาการอย่างนี้” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งการนอนนั้น.(นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบสอง).--อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตน้อมไปเพื่อ การพูด ; เธอก็ ตั้งจิตว่า “เราจักไม่พูดเรื่องเลวทราม เรื่องของชาวบ้าน เรื่องของบุถุชน ไม่ใช่เรื่องของพระอริยเจ้า ไม่ใช่เรื่องประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบรำงับ เพื่อรู้ยิ่งรู้พร้อม เพื่อนิพพาน เห็นปานนั้น; เช่นเรื่องพระราชา เรื่องโจร เรื่องมหาอำมาตย์ เรื่องกองทัพ เรื่องน่ากลัว เรื่องการรบพุ่ง เรื่องข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน ระเบียบดอกไม้ ของหอม ญาติ ยานพาหนะ หมู่บ้าน จังหวัด เมืองหลวง--บ้านนอก เรื่องหญิงชาย เรื่องคนกล้า เรื่องตรอกทางเดิน เรื่องท่าน้ำ เรื่องคนที่ตายไปแล้ว เรื่องต่างๆ นานา เรื่องโลก เรื่องมหาสมุทร เรื่องความรุ่งเรือง เรื่องความทรุดโทรม ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งเรื่องไม่ควรพูดนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะฐานที่สิบสาม).--แต่ถ้า กถาใด เป็นเรื่องขูดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การ วิจารณญาณแห่งจิต เป็นไปเพื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อรู้พร้อม เพื่อนิพพาน, กล่าวคือ อัปปิจฉกถา สันตุฏฐิกถา ปวิเวกกถา อสังสัคคกถา วิริยารัมภกถา สีลกถา สมาธิกถา ปัญญากถา วิมุตติกถา วิมุตติญาณทัสสนกถา ดังนี้; เธอ ตั้งจิตคิดว่า “เราจักกล่าวกถาเห็นปานนั้น” ดังนั้น : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งกถาที่ควรพูดนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบสี่).--อานนท์ ! ถ้าเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตน้อมไปใน การตรึก; เธอก็ ตั้งจิตว่า “วิตกเหล่านี้ใด ซึ่งเลวทราม เป็นของชาวบ้าน ของบุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง รู้พร้อม เพื่อนิพพาน, กล่าวคือกามวิตก พ๎ยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก; เราจักไม่ตรึกในวิตกเห็นปานนั้น” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุ นั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งวิตกอันไม่ควรตรึกนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบห้า).--แต่ถ้า วิตกเหล่าใด ซึ่งเป็นของพระอริยเจ้า เป็นเครื่องนำออก ย่อมนำ ออกเพื่อความพ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตามวิตกนั้น, กล่าวคือ เนกขัมมวิตก อัพยาปาทวิตก อวิหิงสาวิตก; เธอ ตั้งจิตคิดว่า “เราจึกตรึกในวิตกเห็นปานนั้น” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งวิตกอันควรตรึกนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบหก)--อานนท์ ! กามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. ห้าอย่าง อย่างไรเล่า ? ห้าอย่างคือ รูป ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ .... เสียง ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วยโสตะ.... กลิ่น ท. อันพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ .... รส ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา .... โผฏฐัพพะ ท. อันจะพึงรู้แจ้งด้วยกายะ อันเป็นสิ่งที่ปรารถนาน่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด : เหล่านี้แล คือ กามคุณ ๕ อย่าง; ซึ่งในกามคุณเหล่านั้นภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนอยู่เนืองๆว่า “มีอยู่แก่เราหรือไม่หนอ ที่ความกำเริบแห่งจิตเกิดขึ้นในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ หรือว่าในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้. อานนท์ ! ถ้าภิกษุเมื่อพิจารณาอยู่ ย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “มีอยู่แก่เราแล ที่ความกำเริบแห่งจิตเกิดขึ้นในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ หรือว่าในอายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้; อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้น ย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “ฉันทราคะในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ เรายังละไม่ได้” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งฉันทะราคะในกามคุณที่ตนยังละมันไม่ได้นั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบเจ็ด)--อานนท์ ! แต่ถ้าว่าภิกษุ เมื่อพิจารณาอยู่ ย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “ไม่มีอยู่แก่เราเลย ที่ความกำเริบแห่งจิตเกิดขึ้นในกามคุณทั้งห้า หรือว่าใน--อายตนะอย่างใดอย่างหนึ่ง” ดังนี้; อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “ฉันทราคะในกามคุณทั้งห้าเหล่านี้ เราละได้แล้ว” ดังนี้; ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งฉันทราคะในกามคุณห้าที่ตนละได้แล้วนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบแปด).--อานนท์ ! อุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้แล มีอยู่; ซึ่งในอุปาทานขันธ์ห้าเหล่านั้น ภิกษุพึงเป็นผู้มีปกติตามเห็นซึ่งความตั้งขึ้นและความเสื่อมไปอยู่ ดังนี้ว่า “รูป .... เวทนา .... สัญญา .... สังขาร .... วิญญาณ เป็นอย่างนี้, ความเกิดขึ้นแห่งรูป .... เวทนา .... สัญญา .... สังขาร .... วิญญาณ เป็นอย่างนี้, ความดับแห่งรูป .... เวทนา .... สัญญา .... สังขาร .... วิญญาณ เป็นอย่างนี้, ดังนี้. เมื่อภิกษุนั้นมีปกติตามเห็นซึ่งความตั้งขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทานขันธ์ห้าเหล่านี้อยู่, อัส๎มิมานะในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า อันเธอย่อมละได้. อานนท์ ! เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อม รู้ชัดอย่างนี้ว่า “อัส๎มิมานะของเราในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า, อันเราละได้แล้ว” ดังนี้ : ในกรณีอย่างนี้ นี้ ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในกรณีแห่งอัสมิมานะในปัญจุปาทานขันธ์อันตนละได้แล้วนั้น. (นี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ฐานที่สิบเก้า)--อานนท์ ! ธรรมทั้งหลาย (อันเป็นที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ ๑๙ อย่าง) เหล่านี้แล เป็นไปเพื่อกุศลโดยส่วนเดียว เป็นของพระอริยเจ้า เป็นโลกุตตระอันมารผู้มีบาปหยั่งลงไม่ได้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม. 14/236-240/347-350
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม. ๑๔/๒๓๖-๒๔๐/๓๔๗-๓๕๐
ลำดับสาธยายธรรม : 71
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 887
ชื่อบทธรรม : -สติปัฏฐานสี่บริบูรณ์ เมื่ออานาปานสติบริบูรณ์
เนื้อความทั้งหมด :-(ที่ตั้งแห่งสัมปชัญญะ มีจำนวนนับได้ถึง ๑๙ อย่างเช่นนี้ โดยถือเอาตามหลักเกณฑ์ในบาลีฉบับมอญและยุโรป; ถ้าถือเอาตามที่ปรากฏอยู่ในบาลีฉบับไทย จะได้เพียง ๑๘ อย่างเท่านั้น. ทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงลักษณะแห่งผู้มีสัมปชัญญะอย่างลึกซึ้งสูงสุดละเอียดละออ กว่าที่แสดงไว้ในบาลีแห่งอื่น เท่าที่ผู้รวบรวมเคยพบมา. ยังมีข้อความบางอย่างที่ควรศึกษาแปลกออกไปอีกบางประการ ที่หัวข้อว่า “จิตหยั่งลงสู่อมตะเมื่อประกอบด้วยสัญญาอันเหมาะสม” ที่หน้า ๗๖๖ แห่งหนังสือเล่มนี้ ; และพึงดูที่หัวข้อว่า “ลักษณะสัมปชัญญะระดับสูงสุด” ที่หน้า ๑๑๗๘ ด้วย).--สติปัฏฐานสี่บริบูรณ์ เมื่ออานาปานสติบริบูรณ์--ภิกษุ ท. ! ก็อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า จึงทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์ได้ ?--ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุ(๑) เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจเข้ายาว; หรือ เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจออกยาว ดังนี้ก็ดี; (๒) เมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจเข้าสั้น; หรือ เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึง ว่าเราหายใจออกสั้น ดังนี้ก็ดี; (๓) ย่อมทำบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; (๔) ย่อมทำบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; ภิกษุ ท. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท. ! เราย่อมกล่าวลมหายใจเข้า และลมหายใจออก ว่าเป็นกายอย่างหนึ่งๆในบรรดากายทั้งหลาย. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ.--(ข้อนี้อธิบายว่า การกำหนดลมหายใจทั้ง ๔ ขั้นนั้น ชื่อว่ากายในกายเพราะ พระองค์ทรงเรียกลมหายใจว่ากาย เมื่อกำหนดและพิจารณาลมหายใจอยู่ ก็ชื่อว่ากำหนดและพิจารณากายอยู่ ในบรรดากายทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานจัดเป็นสติปัฏฐานที่หนึ่ง).--ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุ (๕) ย่อมทำบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อม เฉพาะซึ่งปีติ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; (๖) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; (๗) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; (๘) ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; ภิกษุ ท. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท. ! เราย่อมกล่าวว่า การทำในใจเป็นอย่างดี ถึงลมหายใจเข้า และลมหายใจออก ว่านั่นเป็นเวทนาอย่างหนึ่งๆในบรรดาเวทนาทั้งหลาย. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่า เป็นผู้ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่เป็นประจำ.--(ข้อนี้อธิบายว่า ความรู้สึกในใจต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการกำหนดลมหายใจ นั้นแหละเรียกว่าเวทนา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ฉะนั้นการกำหนดต่อความรู้สึกเหล่านั้นได้ชื่อว่าเป็นการกำหนดเวทนา และเรียกโดยบาลีว่า เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จัดเป็นสติปัฏฐานที่สอง).--ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุ (๙) ย่อมทำบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อม เฉพาะซึ่งจิต จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; (๑๐) ย่อมทำบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; (๑๑) ย่อมทำบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; (๑๒) ย่อมทำบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; ภิกษุ ท. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า เป็นผู้ ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลสมีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท. ! เราไม่กล่าวว่าอานาปานสติเป็นสิ่งที่มีได้ แก่บุคคลผู้มีสติอันลืมหลงแล้ว ผู้ไม่มีสัมปชัญญะ. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ.--(ข้อนี้อธิบายว่า การระลึกถึงลมหายใจเป็นสิ่งที่มีไม่ได้ แก่ผู้มีสติลืมหลง แสดงว่าถ้าเรายังรู้ลมหายใจอยู่ ก็คือเป็นผู้มีสติมีสัมปชัญญะ, ลมหายใจไม่ได้มีชีวิตจิตใจ แต่มีสิ่งหนึ่งกำลังรู้ว่า ลมหายใจไหลเข้าไหลออกอยู่ใครเป็นคนรู้ลม? ก็คือจิตนั่นเอง จึงเรียกบุคคลที่กำลังรู้ว่า ขณะนี้จิตรัยรู้ลมหายใจมิใด้รับรู้สิ่งอื่นว่าเป็นผู้ตามเห็นจิตใจจิต ซึ่งเรียกเป็นบาลีว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จัดเป็นสติปัฏฐานที่สาม.)--ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุ (๑๓) ย่อมทำบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; (๑๔) ย่อมทำบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นความจางคลายอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; (๑๕) ย่อมทำบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; (๑๖) ย่อมทำบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า จักหายใจออก ดังนี้ก็ดี; ภิกษุ ท. ! สมัยนั้น ภิกษุนั้น--ชื่อว่า เป็นผู้ ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนั้น เป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะเป็นอย่างดีแล้ว เพราะเธอเห็นการละอภิชฌาและโทมนัสทั้งหลายของเธอนั้นด้วยปัญญา. ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเป็นผู้ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ--(ข้อนี้อธิบายว่า ลักษณะแห่งความไม่เที่ยง ความจางคลาย ความดับไม่เหลือและความสลัดคืนก็ดี ลักษณะแห่งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือสุญญตาก็ดี ตลอดถึงลักษณะแห่งความหลุดพ้นจากกิเลส อันเป็นผลสุดท้ายที่เนื่องมาจากการเห็นลักษณะทั้งหลายข้างต้นก็ดี ล้วนแต่เรียกว่าธรรมในกรณีนี้ด้วยกันทั้งนั้น. พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเล็งถึงผลแห่งการปฏิบัติหมวดนี้ว่าเป็นธรรม จึงได้ตรัสเอาการละอภิชฌาและโทมนัสเสียได้ ว่าเป็นสิ่งที่ภิกษุนั้นตามเห็นอยู่ในกรณีนี้ และทรงบัญญัติว่านั่นเป็นการเห็นธรรมในบรรดาธรรมทั้งหลาย ซึ่งเรียกโดยบาลีว่า ธัมมานุสติปัฏฐาน จัดเป็นสติปัฏฐานที่สี่.)--ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่าง นี้แล ย่อมทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ให้บริบูรณ์.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม.14/195- 197/289.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม.๑๔/๑๙๕- ๑๙๗/๒๘๙.
ลำดับสาธยายธรรม : 71
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 888
ชื่อบทธรรม : -สติปัฏฐานสี่บริบูรณ์ ย่อมทำโพชฌงค์ให้บริบูรณ์
เนื้อความทั้งหมด :-ทั้งหมดนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่า ในอานาปานสติทั้ง ๑๖ วัตถุนั้น มีสติปัฎฐาน ๔ รวมอยู่ด้วยในตัว หรือว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ อยู่ในตัวพร้อมกันไปในคราวเดียวกันโดยลักษณะอย่างไร. ต่อนี้ไป เป็นพระพุทธภาษิตที่แสดงว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น จะกระทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ได้อย่างไรสืบไป :---สติปัฏฐานสี่บริบูรณ์ ย่อมทำโพชฌงค์ให้บริบูรณ์--ภิกษุ ท. ! ก็ สติปัฏฐานทั้ง ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างไรเล่า จึงทำให้โพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ได้ ?--ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้ ตามเห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำก็ดี; เป็นผู้ ตามเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย อยู่เป็นประจำก็ดี; เป็นผู้ ตามเห็นจิตในจิต อยู่เป็นประจำก็ดี; เป็นผู้ ตามเห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย อยู่เป็นประจำก็ดี; มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้; สมัยนั้น สติที่ภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ก็เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง. ภิกษุ ท. ! สมัยใด สติที่ภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว เป็นธรรมชาติไม่ลืมหลง สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว; สมัยนั้นภิกษุชื่อว่า ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์; สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้นชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ; ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ชื่อว่าย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา.--(ข้อนี้อธิบายว่า เมื่อมีการตามเห็นกาย ตามเห็นเวทนา ตามเห็นจิต ตามเห็นธรรมอยู่ โดยนัยแห่งจตุกกะทั้งู่ โดยนัยแห่งจตุกกะทั้ง ๔ แล้ว ก็ย่อมมีการกำหนดสติในสิ่งเหล่านั้นอยู่ สติที่เป็นการกำหนดนั้นเอง ชื่อว่าสติสัมโพชฌงค์ในที่นี้. สรุปความสั้นๆว่า เมื่อมีการเจริญอานาปาณสติมีวัตถุ ๑๖ อยู่ ก็ย่อมมีสติสัมโพชฌงค์อยู่ในตัว. ถ้าการเจริญอานาปานสติถึงที่สุด การเจริญสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าถึงที่สุดด้วย นี่อย่างหนึ่ง; อีกอย่างหนึ่ง เมื่อมีสติสัมโพชฌงค์อยู่ด้วยอาการเช่นนั้น ย่อมชื่อว่า มีการเลือกเฟ้นใคร่ครวญซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา ดังจะเห็นได้ชัดในการพิจารณาองค์ฌานขั้นปีติและสุขเป็นต้น หรือพิจารณาในฐานะที่เป็นเวทนาก็ตาม โดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาก็ดี โดยที่เวทนานั้น มีปัจจัยอะไรปรุงแต่งก็ดี หรือโดยที่เวทนานั้นปรุงแต่งสิ่งอื่นสืบไปก็ดี หรือแม้ที่สุดแต่การสโมธานมาซึ่งธรรม การรู้โคจรแห่งธรรมนั้นๆ และการแทงตลอดสมัตถะแห่งธรรมนั้นๆก็ดี มีรายละเอียดดังที่กล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่ ๕; (ดูหนังสืออานาปานสติภาวนา ชุดธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส ที่หน้า ๒๔๐ ไป) นั้นแหละ คือการเลือกเฟ้น ใคร่ครวญธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยสมบูรณ์แล้ว ในการเจริญอานาปานสติ หรือในขณะที่เรียกว่ามีสติสัมโพชฌงค์ ดังที่กล่าวแล้ว. สรุปความว่า เมื่อมี--สติสัมโพชฌงค์โดยอาการของอานาปานสติ ก็ย่อมมีการใคร่ครวญธรรม เพราะสติที่สมบูรณ์ย่อมทำการกำหนดในเบื้องต้น แล้วทำการพิจารณาในฐานะเป็นอนุปัสสนาญาณในลำดับถัดมา อย่างที่เรียกว่าเนื่องกันไปในตัว. การกำหนดชื่อว่าสติ การพิจารณาชื่อว่าการการเลือกเฟ้นใคร่ครวญในที่นี้. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น เมื่อเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ย่อมทำการเลือก ย่อมทำการเฟ้น ย่อมทำการใคร่ครวญอยู่ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา” ดังที่กล่าวแล้ว).--ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติเช่นนั้นอยู่ ทำการเลือกเฟ้น ทำการใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นอยู่ด้วยปัญญา สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว ; สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์; สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้นชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้น เมื่อเลือกเฟ้น ใคร่ครวญ ซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน ก็ชื่อว่าเป็นธรรมอันภิกษุปรารภแล้ว--(ข้อนี้อธิบายว่า เมื่อมีการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ อยู่ โดยลักษณะที่เป็นสติสัมโพชฌงค์ และธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ก็ย่อมเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างขยันขันแข็งด้วยความบากบั่นเต็มที่เพียงไร. ข้อนี้ย่อมคำนวณดูได้จากความเพียรที่ใช้ไปในการเจริญอานาปานสติทั้ง ๑๖ วัตถุ ดังที่วินิจฉัยกันมาแล้วข้างต้น. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น เมื่อเลือกเฟ้นใคร่ครวญซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญาอยู่ ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน ชื่อว่าเป็นธรรมอันภิกษุนั้นปรารภ แล้ว” ดังนี้).--ภิกษุ ท. ! สมัยใด ความเพียรอันไม่ย่อหย่อน อันภิกษุเลือกเฟ้น ใคร่ครวญธรรมด้วยปัญญา ได้ปรารภแล้ว; สมัยนั้น ภิกษุนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว; สมัยนั้น ภิกษุนั้นได้ชื่อว่าเจริญวิริยสัมโพชฌงค์; สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้นก็เต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้น เมื่อมีความเพียรอันปรารภแล้วเช่นนั้น ปีติอันเป็นนิรามิสก็เกิดขึ้น.--(ข้อนี้อธิบายว่า เมื่อมีการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ ที่เป็นไปด้วยดีนั้น ย่อมมีสติ-ธรรมวิจยะ-วิริยสัมโพชฌงค์ โดยนัยที่กล่าวแล้ว จากวิริยสัมโพชฌงค์นั่นเอง ปีติย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจธรรมฉันทะ ธรรมนันทิ กล่าวคือความพอใจในการกระทำของตน หรือในการประสบความสำเร็จแห่งการปฏิบัติธรรมขั้นหนึ่งๆ โดยอาการดังที่กล่าวในตอนที่ว่าด้วยการเกิดของปีติ ในอานาปานสติ ขั้นที่ ๕ เป็นต้น. (ดูหนังสืออานาปานสติภาวนา ชุดธรรมโฆษณ์ของพุทธทาส ที่หน้า ๒๔๐ ไป) ปีติในที่นี้ชื่อว่าเป็นนิรามิส หมายความว่าไม่เจือด้วยอามิสกล่าวคือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่เป็นปีติที่ประกอบด้วยเนกขัมมะ คือการเว้นจากการโดยสิ้นเชิง และเป็นปีติอาศัยธรรม หรือความเป็นธรรมเกิดขึ้น เพราะเหตุฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น เมื่อมีความเพียรอันปรารภแล้ว ปีติอันเป็นนิรามิสก็เกิดขึ้น” ดังนี้).--ภิกษุ ท. ! สมัยใด ปีติอันเป็นนิรามิส เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว; สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว; สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์; สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้นเมื่อมีใจประกอบ ด้วยปีติ แม้กายก็รำงับ แม้จิตก็รำงับ.--(ข้อนี้อธิบายว่า เมื่อมีการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ เป็นโพชฌงค์อยู่ในตัว เป็นลำดับมาตั้งแต่สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ และปีติสัมโพชฌงค์. โดยนัยที่กล่าวแล้ว ด้วยอำนาจของปีตินั่นเอง ย่อมเกิดความสงบรำงับ ดังที่กล่าวแล้วในอานาปานสติ ขั้นที่ ๔ โดยนัยว่าปีติเกิดขึ้น ลมหายใจยิ่งละเอียดลง ซึ่งหมายถึงอาการแห่งการรำงับ โดยลักษณะแห่งสมถะนี้อย่างหนึ่ง และเมื่อมีการพิจารณาธรรม จนความเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาปรากฏขึ้นแล้ว ปีติเกิดขึ้นเพราะเหตุนั้น ทำลมหายใจให้ละเอียดยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นอาการแห่งความรำงับนั่นเอง แต่เป็นความรำงับตามนัยแห่งวิปัสสนา. เมื่อรวมเข้าด้วยกัน ทั้งความรำงับโดยนัยแห่งสมถะและความรำงับโดยนัยแห่งวิปัสสนา ย่อมชื่อว่าความรำงับถึงที่สุด และเป็นความรำงับที่เกิดมาจากปีติโดยตรง เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า “ภิกษุนั้น เมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ แม้กายก็รำงับ แม้จิตก็รำงับ” ดังนี้)--ภิกษุ ท. ! สมัยใด ทั้งกายและทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจประกอบด้วย ปีติย่อมรำงับ; สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว; สมัยนั้น ภิกษุนั้น ย่อมชื่อว่าเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์; สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้นเมื่อมีกาย อันรำงับแล้ว มีความสุขอยู่ จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิ.--(ข้อนี้อธิบายว่า ในการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ อย่าง ย่อมประกอบอยู่ด้วยความเป็นสัมโพชฌงค์ต่างๆ โดยนัยดังที่กล่าวแล้วข้างต้น จนกระทั่งถึงปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ กล่าวคือ ความรำงับทั้งกายและจิต สิ่งที่เรียกว่าความสุขมีรวมอยู่ด้วย ในความรำงับนั้น ไม่จำเป็นจะต้องแยกออกมาเป็นโพชฌงค์อีกต่างหาก. เมื่อกายรำงับ ก็สุขกาย เมื่อใจรำงับ ก็สุขใจ ฉะนั้น ความสุขจึงถูกนับรวมอยู่ด้วย ในความรำงับ; ครั้นมีความรำงับแล้ว จิตย่อมมีความตั้งมั่น ซึ่งเรียกว่าสมาธิ. ความรำงับที่เป็นองค์ฌาณหมายถึงปีติและสุข ทำให้จิตตั้งมั่นอย่างสมถะ; วิปัสสนา; เมื่อรวมกันทั้งความตั้งมั่น โดยนัยแห่งสมถะ และโดยนัยแห่งวิปัสสนา ย่อมเป็นความตั้งมั่นที่สมบูรณ์ ซึ่งเรียกว่าความตั้งมั่นในที่นี้. อานาปานสติขั้นที่ ๑ – ๔ มีความตั้งมั่นโดยนัยแห่งสมถะ อานาปานสติขั้นที่ ๕ ขึ้นไป (ดูหนังสือ อานาปานสติภาวนา ชุดธรรมโฆษณ์ ของพุทธทาส ที่หน้า ๒๔๐ ไป) มีความตั้งมั่นโดยนัยแห่งวิปัสสนา เพราะทุกขั้นทำให้เกิดความรำงับ เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสว่า “ภิกษุนั้น เมื่อกายอันรำงับแล้ว มีความสุขอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น” ดังนี้).--ภิกษุ ท. ! สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายอันรำงับแล้ว มีความสุขอยู่ ย่อมเป็นจิตตั้งมั่น; สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ ก็เป็นอันว่าภิกษุนั้นปรารภแล้ว; สมัยนั้น ภิกษุนั้น ชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์; สมัยนั้นสมาธิสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าเต็มรอบแห่งการเจริญ. ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้เข้าไป เพ่งเฉพาะ ซึ่งจิตอันตังมั่นแล้วอย่างนั้น เป็นอย่างดี.--(ข้อนี้อธิบายว่า อานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ อย่าง ย่อมทำให้เกิดสติสัมโพชฌงค์ต่าง ๆ กระทั่งสมาธิสัมโพชฌงค์ คือความที่จิตตั้งมั่นทั้งโดยนัยแห่งสมถะและวิปัสสนา. ความตั้งมั่นโดยนัยแห่งสมถะเป็นความสงบรำงับ ทำให้มีกำลังหนุนเนื่องตลอดไป; ส่วนความตั้งมั่นโดยนัยแห่งวิปัสสนา นั้นเป็นความตั้งมั่นในการเห็นธรรม ทำให้กิเลสรำงับลง ด้วยอำนาจความรู้แจ้งเห็นแจ้ง ซึ่งมีความตั้งมั่นด้วยดีเหมือนกัน. การเพ่งต่อความตั้งมั่นทั้งสองอย่างนี้ มีขึ้นต่อเมื่อมีความตั้งมั่นแล้วจริงๆ แล้วคุมความตั้งมั่นให้แน่วแน่อยู่ตลอดเวลา จนกว่าจะมีการบรรลุธรรมในเบื้องสูง. การคุมความตั้งมั่นไว้นั่นเอง เรียกว่า การเข้าไปเพ่งซึ่งจิตอันตั้งมั่นแล้ว โดยอุปมาที่ได้กล่าวแล้วหลายครั้งหลายหนว่าเหมือนนายสารถีที่เพียงแต่คุมบังเหียนเฉยอยู่ ในเมื่อม้าและรถ และสิ่งต่างๆ ได้เป็นไปอย่างเรียบร้อยแล้ว ในอานาปานสติขั้นที่ ๕ และอานาปานสติขั้นที่ ๑๑ และขั้นอื่นๆ อีกโดยปริยาย, (ดูหนังสือ อานาปานสติ ภาวนา ชุดธรรมโฆษณ์ ของพุทธทาส หน้า ๒๔๐ ไป และหน้า ๓๔๐ ไป). เมื่อจิตตั้งมั่นแล้วโดยนัยทั้งสอง คือทั้งโดยนัยแห่งสมถะและวิปัสสนา ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่แต่เพียงคุมความตั้งมั่น ให้เป็นไปอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา เป็นการเผาลนกิเลสอยู่ในตัวเรื่อยไป จนกว่าจะสิ้นสุด. เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “ ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะซึ่งจิตอันตั้งมั้นแล้วอย่างนั้นเป็นอย่างดี” ดังนี้).--ภิกษุ ท. ! สมัยใด ภิกษุเป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะ ซึ่งจิตอันตั้งมั่น แล้วอย่างนั้น เป็นอย่างดี; สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ เป็นอันว่า ภิกษุนั้นปรารภแล้ว; สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์; สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ของภิกษุนั้น ชื่อว่าถึงความเต็มรอบแห่งการเจริญ.--(ข้อนี้อธิบายว่า อานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ สมบูรณ์แล้ว เมื่อมีการเข้าไปเพ่งซึ่งจิตอันเป็นขึ้นมาแล้ว ในร่องรอยแห่งสมถะและวิปัสสนา แล้วควบคุมความเป็นอยางนั้นอยู่ตลอดเวลา เราเรียกว่าความเพ่งในที่นี้ หรือเรียกโดยบาลีว่า อุเบกขา ซึ่งแปลว่า เข้าไปเพ่ง หรือเข้าไปดูอยู่ตลอดเวลา ที่ความตั้งมั่นนั้นเผาลนกิเลส และขณะที่กิเลสสูญสิ้นไปแล้ว ในที่สุดก็เพ่งความที่กิเลสสิ้นไปนั้นเอง เป็นอารมณ์ของสติซึ่งมีในอานาปานสติจตุกกะที่ ๔ ขั้นท้ายๆ คือขั้นที่ ๑๔ - ๑๕ - ๑๖ อันเป็นขั้นที่สัมโพชฌงค์ทั้งหลายได้เป็นไปสมบูรณ์ถึงที่สุดจริงๆ--(ดูหนังสือ อานาปานสติภาวนา ชุดธรรมโฆษณ์ ของพุทธทาส ที่หน้า ๓๙๒-๔๒๐). เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเพียงการเต็มรอบ ของ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ในฐานะที่เป็นการปฏิบัติขั้นสุดท้าย).--ภิกษุ ท. ! สติปัฎฐานทั้ง ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมทำโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้บริบูรณ์ได้.--(ข้อนี้อธิบายว่า เมื่อมีการเจริญอานาปานสติมีวัตถุ ๑๖ อย่างเต็มที่ ก็ชื่อว่ามีการเจริญสติปัฎฐานทั้ง ๔ อย่างเต็มที่ เมื่อมีการเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ อย่างเต็มที่ ก็เป็นการเจริญโพชฌงค์ทั้ง ๗ อย่างเต็มที่ เป็นอันว่าในสิ่งทั้ง ๓ นี้ โดยพฤตินัย เมื่อกล่าวถึงสิ่งใด ก็เป็นอันกล่าวถึงสิ่งที่กล่าวแล้วทั้ง ๒ ที่เหลือด้วย โดยไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้).-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม. 14/197 - 201/290.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม. ๑๔/๑๙๗ - ๒๐๑/๒๙๐.
ลำดับสาธยายธรรม : 71
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 889
ชื่อบทธรรม : -เมื่อโพชฌงค์ทั้ง ๗ บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นการง่าย ที่จะทำวิชชาและวิมุตติให้ บริบูรณ์ ; หากแต่ว่า การเจริญโพชฌงค์นั้น จักต้องเป็นไปโดยถูกวิธีอย่างยิ่ง ซึ่งท่านจำกัดความไว้ว่า โพชฌงค์ที่เจริญนั้น ต้องอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ ซึ่งทั้ง ๓ อย่างนั้น น้อมไปเพื่อโวสสัคคะ กล่าวคือ การสละหรือการสลัด สิ่งซึ่งเคยยึดถือไว้ด้วยอุปทานโดยประการทั้งปวงเท่านั้น. อานาปานสติขั้นที่ ๑๖ เป็นไปเพื่อสิ่งเหล่านี้โดยตรง เพราะฉะนั้นโพชฌงค์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยการเจริญอานาปานสติ จึงเป็นโพชฌงค์ที่ตรงตามวัตถุประสงค์ ในการที่จะทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์
เนื้อความทั้งหมด :-เมื่อโพชฌงค์ทั้ง ๗ บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นการง่าย ที่จะทำวิชชาและวิมุตติให้ บริบูรณ์ ; หากแต่ว่า การเจริญโพชฌงค์นั้น จักต้องเป็นไปโดยถูกวิธีอย่างยิ่ง ซึ่งท่านจำกัดความไว้ว่า โพชฌงค์ที่เจริญนั้น ต้องอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ ซึ่งทั้ง ๓ อย่างนั้น น้อมไปเพื่อโวสสัคคะ กล่าวคือ การสละหรือการสลัด สิ่งซึ่งเคยยึดถือไว้ด้วยอุปทานโดยประการทั้งปวงเท่านั้น. อานาปานสติขั้นที่ ๑๖ เป็นไปเพื่อสิ่งเหล่านี้โดยตรง เพราะฉะนั้นโพชฌงค์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยการเจริญอานาปานสติ จึงเป็นโพชฌงค์ที่ตรงตามวัตถุประสงค์ ในการที่จะทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ ดังที่พระพุทธภาษิตตรัสไว้สืบไปว่า :---โพชฌงค์บริบูรณ์ ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์--ภิกษุ ท. ! โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างไรเล่า จึงจะทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ ?--ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อมเจริญ สติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ;--ย่อมเจริญ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อัน อาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.--ย่อมเจริญ วิริยสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.--ย่อมเจริญ ปีติสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.--ย่อมเจริญ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.--ย่อมเจริญ สมาธิสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.--ย่อมเจริญ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันอาศัยวิเวก อันอาศัยวิราคะ อันอาศัยนิโรธ อันน้อมไปเพื่อโวสสัคคะ.--ภิกษุ ท. ! โพชฌงค์ทั้ง ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้วอย่าง นี้แล ย่อมทำวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม. 14/201/291
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม. ๑๔/๒๐๑/๒๙๑
ลำดับสาธยายธรรม : 71
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site