สัทธรรมลำดับที่ : 64
ชื่อบทธรรม : -สัจจะและหลักพึงปฏิบัติเกี่ยวกับการถึงสัจจะ
เนื้อความทั้งหมด :-สัจจะและหลักพึงปฏิบัติเกี่ยวกับการถึงสัจจะ--(ตามธรรมชาติมนุษย์แต่ละคนมีสิ่งที่เขาเรียกว่าความจริง ที่เขาถือเป็นหลักประจำตัวของเขาอยู่ด้วยกันทั้งนั้น แล้วแต่ว่าเขาได้ทำให้มันเกิดขึ้นในใจของเขาอย่างไร ซึ่งยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้. แต่ว่าความจริงชนิดนี้ยังไม่ใช่ความจริงที่เด็ดขาด ยังไม่สูงสุด ยังใช้เป็นประโยชน์ในขั้นสูงสุดไม่ได้. ดังนั้นความจริงนั้น จะต้องถูกปรับปรุงให้ชัดเจนแจ่มแจ้งยิ่งขึ้นไปจนกว่าจะกลายเป็นความจริงที่ใช้ให้สำเร็จประโยชน์ได้จริง โดยวิธีที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้อย่างน่าอัศจรรย์; กล่าวคือไม่ยึดมั่นถือมั่นความจริงในอันดับแรกนั้น แต่หล่อเลี้ยงมันไว้ในลักษณะที่มันจะพิสูจน์ความเป็นของจริงออกมาในตัวการปฏิบัตินั้นเอง.--ในพระพุทธภาษิตที่ทรงแนะนำไว้อย่างยืดยาวนี้ จำเป็นที่จะต้องแบ่งออกเป็น ๔ ตอน คือ ลักษณะของความจริง ที่ชาวโลกจะได้มาตามธรรมชาติ ซึ่งยังไม่เป็นความจริงแท้ ยังจะต้องเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย นี้ตอนหนึ่ง, การหล่อเลี้ยงความจริงอันนั้นไว้ ให้มีโอกาสพิสูจน์ความจริงที่ยิ่งขึ้นไป นี้ตอนหนึ่ง, การแสวงหาความจริง จากบุคคลที่กำลังปฏิบัติความจริงที่ตนประสงค์จะรู้ให้แน่ชัด นี้ตอนหนึ่ง, เมื่อได้ความแน่ชัดมาแล้ว ตนเองที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อันนั้น จนพบความจริงนั้นด้วยตนเองโดยประจักษ์ ไม่ต้องคาดคะเน ไม่ต้องคำนวณ ไม่ต้องเชื่อตามผู้อื่นอีกต่อไป นับว่าเป็นการเข้าถึงหัวใจแห่งความจริงในกรณีนั้น เป็นตอนสุดท้าย.--ต่อไปนี้เป็นพระพุทธภาษิตที่ตรัสปรารภ ความจริงที่เป็นไปตามภาษาชาวโลก ตามธรรมชาติ :-)--(ก. ความจริงตามแบบของชาวโลกตามธรรมชาติ)--ภารท๎วาชะ ! เมื่อก่อนท่านได้ถึงความเชื่อ (อย่างใดอย่างหนึ่งลงไปแล้ว) มาบัดนี้ท่านกล่าวมันว่า (เป็นเพียง) สิ่งที่ได้ยินได้ฟังมา. ภารท๎วาชะ ! สิ่งทั้งห้านี้ อย่างที่เราเห็น ๆ กันอยู่ในบัดนี้ เป็นสิ่งที่มีผลเป็น ๒ ฝ่าย. สิ่งทั้ง--ห้านั้น คืออะไรเล่า ? คือ ความเชื่อ (ว่าจริง), ความชอบใจ (ว่าจริง), เรื่องที่ฟังตาม ๆ กันมา (ว่าจริง), ความตริตรึกไปตามเหตุผลที่แวดล้อม (ว่าจริง), และข้อยุตติที่ทนได้ต่อการเพ่งพินิจด้วยความเห็นของเขา (ว่าจริง), ดังนี้. นี่แหละคือสิ่งทั้งห้าที่เราเห็น ๆ กันอยู่ในบัดนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีผลเป็น ๒ ฝ่าย. ภารท๎วาชะ ! สิ่งที่เชื่อ กันแล้วเป็นอย่างดีนั่นแหละ ก็มีอยู่, แต่ว่าสิ่งนั้นเป็นของเปล่า เป็นของไม่จริง เป็นของเท็จ อยู่ก็มี ; แม้ สิ่งที่ไม่เชื่อกันแล้วเป็นอย่างดี ก็มีอยู่, แต่ว่าสิ่งนั้นกลับเป็นของจริง ของแท้ ของไม่ผิดเป็นอย่างอื่น อยู่ก็มี. ภารท๎วาชะ ! สิ่งที่ชอบใจ กันแล้วเป็นอย่างดีนั่นแหละ ก็มีอยู่, แต่ว่าสิ่งนั้นเป็นของเปล่า เป็นของไม่จริง เป็นของเท็จ อยู่ก็มี ; แม้ สิ่งที่ไม่ชอบใจ กันแล้วเป็นอย่างดี ก็มีอยู่, แต่ว่าสิ่งนั้นกลับเป็นของจริง ของแท้ ของไม่ผิดเป็นอย่างอื่น อยู่ก็มี. ภารท์วาชะ ! สิ่งที่ได้ฟังตามกันมา แล้วเป็นอย่างดีนั่นแหละ ก็มีอยู่, แต่ว่าสิ่งนั้นเป็นของเปล่าเป็นของไม่จริง เป็นของเท็จ อยู่ก็มี ; แม้ สิ่งที่ไม่ได้ฟังตามกันมา แล้วเป็นอย่างดี ก็มีอยู่, แต่ว่าสิ่งนั้นกลับเป็นของจริง ของแท้ ของไม่ผิดเป็นอย่างอื่น อยู่ก็มี. ภารท๎วาชะ ! สิ่งที่ได้ตริตรึก กันมาแล้วเป็นอย่างดีนั่นแหละ ก็มีอยู่, แต่ว่าสิ่งนั้นกลับเป็นของเปล่า เป็นของไม่จริง เป็นของเท็จ อยู่ก็มี ; แม้ สิ่งที่ไม่ได้ ตริตรึก กันมาแล้วเป็นอย่างดี ก็มีอยู่, แต่ว่าสิ่งนั้นกลับเป็นของจริง ของแท้ของไม่ผิดเป็นอย่างอื่น อยู่ก็มี. ภารท๎วาชะ ! สิ่งที่ได้เพ่งพินิจ กันมาแล้วเป็นอย่างดีนั่นแหละ ก็มีอยู่, แต่ว่าสิ่งนั้นกลับเป็นของเปล่า เป็นของไม่จริง เป็นของเท็จ อยู่ก็มี ; แม้ สิ่งที่ไม่ได้เพ่งพินิจ กันมาแล้วเป็นอย่างดี ก็มีอยู่, แต่ว่าสิ่งนั้นกลับเป็นของจริง ของแท้ ของไม่ผิดเป็นอย่างอื่น อยู่ก็มี. ภารท๎วาชะ ! วิญญูชนผู้จะตามรักษาไว้ซึ่งความจริง อย่าพึงถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้.--“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง (สจฺจานุรกฺขณา) นั้น มีได้ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ? บุคคลจะตามรักษาไว้ซึ่งความจริงนั้นได้ ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ? ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมผู้เจริญถึง วิธีการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง.”--(ต่อไปนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสวิธี การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ในลักษณะที่ไม่ให้ถือเอาด้วยความยึดมั่นความที่ตนเชื่อ ตามที่ตนชอบใจ ตามที่ตนได้ยินได้ฟังมาเป็นต้น :-)--(ข. วิธีการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง)--ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ ความเชื่อ ของบุรุษมีอยู่ และเขาก็ ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนี้” ดังนี้, เขาก็ อย่าเพ่อถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน. ภารท๎วาชะ ! ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้แล การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ย่อมมี,บุคคลชื่อว่าย่อมตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้, และเราบัญญัติการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ ; แต่ว่า นั่น ยังไม่เป็นการตามรู้ซึ่งความจริง ก่อน.--ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ ความชอบใจ ของบุรุษมีอยู่ และเขาก็ ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีความชอบใจอย่างนี้” ดังนี้, เ ขาก็ อย่าเพ่อถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน. ภารท๎วาชะ ! ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้แล การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ย่อมมี, บุคคลชื่อว่าย่อมตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้, และเราบัญญัติการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ ; แต่ว่า นั่นยังไม่เป็นการตามรู้ซึ่งความจริง ก่อน.--ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ เรื่องที่ฟังตาม ๆ กันมาของบุรุษมีอยู่ และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีเรื่องที่ฟังตาม ๆ กันมาอย่างนี้” ดังนี้, เขาก็อย่าเพ่อถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน. ภารท๎วาชะ ! ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้แล การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ย่อมมี, บุคคลชื่อว่าย่อมตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้, และเราบัญญัติการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ ; แต่ว่า นั่นยังไม่เป็นการตามรู้ซึ่งความจริง ก่อน.--ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ ความตริตรึกไปตามเหตุผลที่แวดล้อม ของบุรุษมีอยู่ และเขาก็ ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีความตริตรึกไปตามเหตุผลที่แวดล้อมอย่างนี้” ดังนี้, เขาก็ อย่าเพ่อถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง, อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน. ภารท๎วาชะ ! ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้แล การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ย่อมมี, บุคคลชื่อว่าย่อมตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้, และเราบัญญัติการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ ; แต่ว่านั่นยังไม่เป็นการตามรู้ ซึ่งความจริง ก่อน.--ภารท๎วาชะ ! ถ้าแม้ ข้อยุตติที่ทนได้ต่อการเพ่งพินิจด้วยความเห็น ของบุรุษ มีอยู่ และเขาก็ตามรักษาไว้ซึ่งความจริง กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้ามีข้อยุตติที่ทนได้ต่อการเพ่งพินิจด้วยความเห็นอย่างนี้” ดังนี้, เขาก็ อย่าเพ่อถึงซึ่งการสันนิษฐานโดยส่วนเดียว ว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง. อย่างอื่นเปล่า” ดังนี้ก่อน. ภารท๎วาชะ ! ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้แล การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ย่อมมี, บุคคลชื่อว่าย่อมตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้, และเรา--บัญญัติการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ ; แต่ว่า นั่นยัง ไม่เป็นการตามรู้ซึ่งความจริง ก่อน.--“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! การตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ย่อมมีด้วยการกระทำ เพียงเท่านี้. บุคคลชื่อว่าย่อมตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้. อนึ่ง ข้าพเจ้าก็มุ่งหวังซึ่งการตามรักษาไว้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้. ข้าแต่พระโคดม ผู้เจริญ ! การตามรู้ซึ่งความจริง (สจฺจานุโพโธ) มีได้ ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร? บุคคลชื่อว่าตามรู้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ? ข้าพเจ้าขอถามพระโคดมผู้เจริญถึงการตามรู้ความจริง”.--(ต่อไปนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสวิธี การตามรู้ซึ่งความจริง ด้วยการทรงแนะให้สังเกตธรรมะที่มีอยู่ที่บุคคล ผู้ปฏิบัติธรรมะ เพื่อให้รู้จักธรรมะซึ่งเป็นตัวความจริงสำหรับจะนำมาใคร่ครวญต่อไป :-)--(ค. การติดตามทำความกำหนดรู้ในความจริง)--ภารท๎วาชะ! ได้ยินว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เข้าไปอาศัยอยู่ในบ้านหรือในนิคมแห่งใดแห่งหนึ่ง. คหบดีหรือคหบดีบุตร ได้เข้าไปใกล้ภิกษุนั้นแล้วใคร่ครวญดูอยู่ในใจเกี่ยวกับธรรม ๓ ประการ คือธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโลภะ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโมหะทั้งหลาย (โดยนัยเป็นต้นว่า) “ท่านผู้มีอายุผู้นี้ จะมีธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโลภะหรือไม่หนอ อันเป็นธรรมที่เมื่อครอบงำจิตของท่านแล้ว จะทำให้ท่านเป็นบุคคลที่เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น หรือว่าจะชักชวนผู้อื่นในธรรมอันเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์ทั้งหลายเหล่าอื่นตลอดกาลนาน” ดังนี้ ; เมื่อเขา--ใคร่ครวญดูอยู่ในใจซึ่งภิกษุนั้น ก็รู้ว่า “ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งโลภะชนิดนั้น มิได้มีแก่ท่านผู้มีอายุนี้, อนึ่ง กายสมาจาร วจีสมาจาร ของท่านผู้มีอายุผู้นี้ ก็เป็นไปในลักษณะแห่งสมาจารของบุคคลผู้ไม่โลภแล้ว, อนึ่ง ท่านผู้มีอายุนี้ แสดงซึ่งธรรมใด ธรรมนั้นเป็นธรรมที่ลึก เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก เป็นธรรมที่รำงับ ประณีตไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงง่ายแห่งความตรึก เป็นธรรมละเอียดอ่อน รู้ได้เฉพาะบัณฑิตวิสัย, ธรรมนั้น มิใช่ธรรมที่คนผู้มีความโลภจะแสดงให้ถูกต้องได้” ดังนี้.เมื่อเขาใคร่ครวญดูอยู่ซึ่งภิกษุนั้น ย่อมเล็งเห็นว่า เป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโลภะ. ต่อแต่นั้น เขาจะพิจารณาใคร่ครวญภิกษุนั้นให้ยิ่งขึ้นไปในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะ.... ในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ.... (ก็ได้เห็นประจักษ์ในลักษณะอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งโลภะ ตรงเป็นอันเดียวกันทุกตัวอักษรไปจนถึงคำ ว่า “เมื่อเขาใคร่ครวญดูอยู่ซึ่งภิกษุนั้น ย่อมเล็งเห็นว่า เป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ”.)--ลำดับนั้น เขา (๑) ปลูกฝัง ศรัทธา ลงไป ในภิกษุนั้น ครั้นมีสัทธาเกิดแล้ว (๒) ย่อม เข้าไปหา ครั้นเข้าไปหาแล้ว (๓) ย่อม เข้าไปนั่งใกล้ครั้นเข้าไปนั่งใกล้แล้ว (๔) ย่อม เงี่ยโสตลง ครั้นเงี่ยโสตลง (๕) ย่อม ฟังซึ่งธรรม ครั้นฟังซึ่งธรรมแล้ว (๖) ย่อม ทรงไว้ซึ่งธรรม (๗) ย่อม ใคร่ครวญซึ่งเนื้อความแห่งธรรมทั้งหลาย อันตนทรงไว้แล้ว เมื่อใคร่ครวญซึ่งเนื้อความแห่งธรรมอยู่ (๘) ธรรมทั้งหลายย่อมทนต่อความเพ่งพินิจ, เมื่อการทนต่อการเพ่งพินิจของธรรมมีอยู่ (๙) ฉันทะย่อมเกิดขึ้น ผู้มีฉันทะเกิดขึ้นแล้ว (๑๐) ย่อมมีอุสสาหะ ครั้นมีอุสสาหะแล้ว (๑๑) ย่อม พิจารณาหาความสมดุลย์แห่งธรรมครั้นมีความสมดุลแห่งธรรมแล้ว (๑๒) ย่อม ตั้งตนไว้ในธรรมนั้น ; เขาผู้มีตนส่งไปแล้วอย่างนี้อยู่ ย่อม กระทำให้แจ้งซึ่งปรมัตถสัจจะ ด้วยนามกาย ด้วย,--ย่อม แทงตลอดซึ่งธรรมนั้น แล้วเห็นอยู่ด้วยปัญญา ด้วย. ภารท๎วาชะ ! การตามรู้ซึ่งความจริง ย่อมมี ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้, บุคคลชื่อว่าย่อมตามรู้ซึ่งความจริงด้วยการกระทำเพียงเท่านี้, และเราบัญญัติการตามรู้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้ ; แต่ว่า นั่นยังไม่เป็นการตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ก่อน.--“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! การตามรู้ซึ่งความจริง ย่อมมีด้วยการกระทำเพียง เท่านี้. บุคคลชื่อว่าย่อมตามรู้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้. อนึ่ง ข้าพเจ้าก็ มุ่งหวังซึ่งการตามรู้ซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง (สจฺจานุปตฺติ) มีได้ ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ? บุคคล ชื่อว่าย่อมตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่าไร ? ข้าพเจ้าขอถามพระโคดม ผู้เจริญถึงการตามบรรลุถึงซึ่งความจริง.”--(ต่อไปนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสวิธี การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ด้วยการประพฤติ กระทำให้มากซึ่งธรรมทั้งหลาย ๑๒ ประการ ดังที่กล่าวแล้วใน ข้อ ค.จนกระทั่งบรรลุถึงซึ่งความจริง :-)--(ง. การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง)--ภารท๎วาชะ ! การเสพคบ การทำให้เจริญ การกระทำให้มาก ซึ่งธรรมทั้งหลายเหล่านั้นแหละ เป็นการตามบรรลุถึงซึ่งความจริง. ภารท๎วาชะ !การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ย่อมมี ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้, บุคคลชื่อว่า ย่อมตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้, และเราบัญญัติการตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้.--“ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ! การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ย่อมมีด้วยการกระทำ เพียงเท่านี้. บุคคลชื่อว่าย่อมตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้. อนึ่ง ข้าพเจ้าก็มุ่งหวังซึ่งการตามบรรลุซึ่งความจริง ด้วยการกระทำเพียงเท่านี้...”--(ต่อไปนี้ กาปทิกมาณพนั้น ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าถึง ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง ดังที่พระองค์ได้ตรัสตอบเป็นลำดับไป :-)--(จ. ธรรมเป็นอุปการะมากแก่การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง)--ภารท๎วาชะ ! การตั้งตนไว้ในธรรม (ปธาน) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง : ถ้าบุคคลไม่ตั้งตนไว้ในธรรมแล้วไซร้เขาก็ไม่พึงตามบรรลุถึงซึ่งความจริงได้. เพราะเหตุที่เขาตั้งตนไว้ในธรรม เขาจึงบรรลุถึงซึ่งความจริง, เพราะเหตุนั้น การตั้งตนไว้ในธรรม จึงชื่อว่าเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การตามบรรลุถึงซึ่งความจริง.--ภารท๎วาชะ ! การพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรม (ตุลนา) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การตั้งตนไว้ในธรรม : ถ้าบุคคลไม่พบความสมดุลแห่งธรรมนั้นแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงตั้งตนไว้ในธรรม. เพราะเหตุที่เขาพบซึ่งความสมดุลแห่งธรรม เขาจึงตั้งตนไว้ในธรรม ; เพราะเหตุนั้น การพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรม จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การตั้งตนไว้ในธรรม.--ภารท๎วาชะ ! อุสสาหะ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรม : ถ้าบุคคลไม่พึงมีอุสสาหะแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงพบซึ่งความสมดุลแห่งธรรม. เพราะเหตุที่เขามีอุสสาหะ เขาจึงพบความสมดุลแห่ง--ธรรม ; เพราะเหตุนั้น อุสสาหะจึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การพิจารณาหาความสมดุลแห่งธรรม.--ภารท๎วาชะ ! ฉันทะ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่อุสสาหะ : ถ้าบุคคลไม่พึงยังฉันทะให้เกิดแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงมีอุสสาหะ. เพราะเหตุที่ฉันทะเกิดขึ้น เขาจึงมีอุสสาหะ ; เพราะเหตุนั้น ฉันทะจึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่อุสสาหะ.--ภารท๎วาชะ ! ความที่ธรรมทั้งหลายทนได้ต่อการเพ่งพินิจ(ธมฺมนิชฺ-ฌานกฺขนฺติ) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ : ถ้าธรรมทั้งหลายไม่พึงทนต่อการเพ่งพินิจแล้วไซร้ ฉันทะก็ไม่พึงเกิด. เพราะเหตุที่ธรรมทั้งหลายทนต่อการเพ่งพินิจ ฉันทะจึงเกิด ; เพราะเหตุนั้น ความที่ธรรมทั้งหลายทนต่อการเพ่งพินิจ จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ.--ภารท๎วาชะ ! ความเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ (อตฺถุปปริกฺขา) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ความที่ธรรมทั้งหลายทนต่อการเพ่งพินิจ : ถ้าบุคคลไม่เข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะแล้วไซร้ ธรรมทั้งหลายก็ไม่พึงทนต่อการเพ่งพินิจ. เพราะเหตุที่บุคคลเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ ธรรมทั้งหลายจึงทนต่อการเพ่งพินิจ ; เพราะเหตุนั้น การเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ความที่ธรรมทั้งหลายทนต่อการเพ่งพินิจ.--ภารท๎วาชะ ! การทรงไว้ซึ่งธรรม (ธมฺมธารณา) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ความเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ. ถ้าบุคคลไม่ทรงไว้ซึ่งธรรมแล้วไซร้เขาก็ไม่อาจเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะได้ เพราะเหตุที่เขาทรงธรรมไว้ได้ เขาจึง--เข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะได้. เพราะเหตุนั้น การทรงไว้ซึ่งธรรม จึงเป็นธรรมมี อุปการะมากแก่ความเข้าไปใคร่ครวญซึ่งอรรถะ.--ภารท๎วาชะ ! การฟังซึ่งธรรม (ธมฺมสฺสวน) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงไว้ซึ่งธรรม. ถ้าบุคคลไม่พึงฟังซึ่งธรรมแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงทรงธรรมไว้ได้ เพราะเหตุที่เขาฟังซึ่งธรรม เขาจึงทรงธรรมไว้ได้. เพราะเหตุนั้น การฟังซึ่งธรรม จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงไว้ซึ่งธรรม.--ภารท๎วาชะ ! การเงี่ยลงซึ่งโสตะ (โสตาวธาน) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังซึ่งธรรม. ถ้าบุคคลไม่เงี่ยลงซึ่งโสตะแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงฟังซึ่งธรรมได้ เพราะเหตุที่เขาเงี่ยลงซึ่งโสตะ เขาจึงฟังซึ่งธรรมได้. เพราะเหตุนั้น การเงี่ยลงซึ่งโสตะ จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังซึ่งธรรม.--ภารท๎วาชะ ! การเข้าไปนั่งใกล้ (ปยิรุปาสนา) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยลงซึ่งโสตะ. ถ้าบุคคลไม่พึงเข้าไปนั่งใกล้แล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงเงี่ยลงซึ่งโสตะ เพราะเหตุที่เขาเข้าไปนั่งใกล้ เขาจึงเงี่ยลงซึ่งโสตะได้. เพราะเหตุนั้น การเข้าไปนั่งใกล้ จึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยลงซึ่งโสตะ.--ภารท๎วาชะ ! การเข้าไปหา (อุปสงฺกมน) เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้. ถ้าบุคคลไม่เข้าไปหาแล้วไซร้ เขาก็ไม่พึงเข้าไปนั่งใกล้ได้เพราะเหตุที่เขาเข้าไปหา เขาจึงเข้าไปนั่งใกล้ได้. เพราะเหตุนั้น การเข้าไปหาจึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้.--ภารท๎วาชะ ! สัทธา เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา. ถ้าสัทธาไม่พึงเกิดแล้วไซร้ เขาก็จะไม่เข้าไปหา เพราะเหตุที่สัทธาเกิดขึ้น เขาจึงเข้าไปหา. เพราะเหตุนั้น สัทธาจึงเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การไปหา.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ม. ม. 13/601-608/655-659.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ม. ม. ๑๓/๖๐๑-๖๐๘/๖๕๕-๖๕๙.
ลำดับสาธยายธรรม : 6
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 65
ชื่อบทธรรม : -การรู้อริยสัจเป็นของไม่เหลือวิสัย--พระอริยบุคคล จึงมีปริมาณมาก
เนื้อความทั้งหมด :-(ขอผู้ศึกษาพึงสังเกตว่า สิ่งที่เรียกว่าความจริงในสูตรนี้ หมายถึงความจริงทั่วไปไม่มุ่งหมายเฉพาะจตุราริยสัจ แต่อาจจะใช้กับความจริงอันมีชื่อว่าจตุราริยสัจได้ โดยประการ ทั้งปวง จึงได้นำมากล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้.)--การรู้อริยสัจเป็นของไม่เหลือวิสัย--พระอริยบุคคล จึงมีปริมาณมาก--วัจฉะ ! ภิกษุผู้สาวกของเรา บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ได้กระทำให้แจ้งแล้วด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ มีอยู่ไม่ใช่ร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย มีอยู่มากกว่ามาก โดยแท้.--วัจฉะ ! ภิกษุณีผู้สาวิกาของเรา บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ได้กระทำให้แจ้งแล้วด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในทิฏฐธรรมนี้ มีอยู่ไม่ใช่ร้อยเดียว ไม่ใช่สองร้อย ไม่ใช่สามร้อย ไม่ใช่สี่ร้อย ไม่ใช่ห้าร้อย มีอยู่มากกว่ามาก โดยแท้.--วัจฉะ ! อุบาสก ผู้สาวกของเรา พวกเป็นคฤหัสถ์นุ่งขาว อยู่ประพฤติกับผู้ประพฤติพรหมจรรย์, เป็น โอปปาติกสัตว์ (พระอนาคามี) มีปกติปรินิพพาน--ในภพที่ไปเกิดนั้น ไม่เวียนกลับจากภพนั้นเป็นธรรมดา, เพราะความสิ้นไปแห่งสัญโญชน์มีส่วนในเบื้องต่ำห้าอย่าง ก็ มีอยู่ไม่ใช่ร้อยเดียว ฯลฯ ไม่ใช่ห้าร้อยมีอยู่มากกว่ามาก โดยแท้.--วัจฉะ ! อุบาสก ผู้สาวกของเรา พวกเป็นคฤหัสถ์นุ่งขาว ยังบริโภคกาม เป็นผู้ ทำตามคำสอน เป็นผู้ สนองโอวาท มีความสงสัยอันข้ามได้แล้วไม่ต้องกล่าวด้วยความสงสัยว่า นี่อะไร ๆ เป็นผู้ปราศจากความครั่นคร้าม ไม่ใช่ผู้ต้องเชื่อตามคำของผู้อื่น อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาของพระศาสดา ก็ มีอยู่ ไม่ใช่ร้อยเดียว ฯลฯ ไม่ใช่ห้าร้อย มีอยู่มากกว่ามาก โดยแท้.--วัจฉะ ! อุบาสิกา ผู้สาวิกาของเรา พวกเป็นหญิงคฤหัสถ์นุ่งขาว อยู่ประพฤติกับผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เป็น โอปปาติกสัตว์ (พระอนาคามี) มีปกติปรินิพพานในภพที่ไปเกิดนั้น ไม่เวียนกลับจากภพนั้นเป็นธรรมดา, เพราะความสิ้นไปแห่งสัญโญชน์มีส่วนในเบื้องต่ำห้าอย่าง ก็ มีอยู่ไม่ใช่ร้อยเดียว ฯลฯ ไม่ใช่ห้าร้อย มีอยู่โดยมากกว่ามากเป็นแท้.--วัจฉะ ! อุบาสิกา ผู้สาวิกาของเรา พวกเป็นหญิงคฤหัสถ์นุ่งขาว ยังบริโภคกาม เป็นผู้ ทำตามคำสอน เป็นผู้ สนองโอวาท มีความสงสัยอันข้ามได้แล้ว ไม่ต้องกล่าวด้วยความสงสัยว่า นี่อะไร ๆ เป็นปราศจากความครั่นคร้าม ไม่ต้องเชื่อตามคำของผู้อื่น อยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาของพระศาสดา ก็มีอยู่ไม่ใช่ร้อยเดียว ฯลฯ ไม่ใช่ห้าร้อย มีอยู่โดยมากกว่ามากเป็นแท้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ม. ม. 13/251-253/255-256.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ม. ม. ๑๓/๒๕๑-๒๕๓/๒๕๕-๒๕๖.
ลำดับสาธยายธรรม : 6
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 67
ชื่อบทธรรม : -คุณค่าของอริยสัจ
เนื้อความทั้งหมด :-คุณค่าของอริยสัจ--อริยสัจสี่เป็นเอกังสิกธรรมที่ทรงแสดง--(หลังจากที่ทรงปฏิเสธการแสดงอันตคาหิกทิฏฐิ สิบในฐานะที่เป็นอเนกังสิกธรรมต่อพระองค์แล้ว, ได้ทรงแสดงเอกังสิกธรรม ในธรรมวินัยของพระองค์ ดังต่อไปนี้ :-)--โปฎฐปาทะ ! ธรรมที่เราแสดง บัญญัติ ว่าเป็นเอกังสิกะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?--โปฏฐปาทะ ! ธรรมที่เราแสดง บัญญัติ ว่าเป็นเอกังสิกะนั้น คือข้อที่ว่า “นี้ เป็นทุกข์” ดังนี้บ้าง ; .... “นี้ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์” ดังนี้บ้าง ; .... “นี้ เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้บ้าง ; .... “นี้ เป็นข้อปฏิบัติให้ถึง ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้บ้าง.--โปฏฐปาทะ ! เพราะเหตุไรเล่าเราจึงแสดงบัญญติธรรมเหล่านั้น ว่าเป็นเอกังสิกธรรม (ธรรมที่ควรแสดงบัญญัติโดยส่วนเดียว) ? โปฏฐปาทะ ! ข้อนี้เพราะว่าธรรมเหล่านั้น ประกอบด้วยอรรถะ ประกอบด้วยธรรมะ เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัดเป็นไปเพื่อความดับ เป็นไปเพื่อความสงบรำงับ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อความรู้พร้อม เป็นไปเพื่อนิพพาน ; เพราะเหตุนั้น ธรรมเหล่านั้น เราจึงแสดง บัญญัติ ว่าเป็นเอกังสิกธรรม.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - สี. ที. 9/236/298.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - สี. ที. ๙/๒๓๖/๒๙๘.
ลำดับสาธยายธรรม : 6
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 68
ชื่อบทธรรม : -ทำที่สุดทุกข์โดยไม่รู้อริยสัจนั้นเป็นไปไม่ได้
เนื้อความทั้งหมด :-ทำที่สุดทุกข์โดยไม่รู้อริยสัจนั้นเป็นไปไม่ได้--ภิกษุ ท. ! ผู้ใด พึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ ข้าพเจ้า ไม่รู้เฉพาะตามเป็นจริง ซึ่งอริยสัจคือทุกข์ ซึ่งอริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ ซึ่งอริยสัจคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ซึ่งอริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์แล้วข้าพเจ้าก็จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้” ดังนี้ : ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้. ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าจักทำห่อด้วยใบแห่งไม้สีเสียด หรือใบแห่งไม้สรละ หรือใบแห่งไม้มะขามป้อม แล้วจักใส่น้ำหรือน้ำตกจากต้นตาล แล้วนำไปได้” ดังนี้ : ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้ ; ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้เฉพาะตามเป็นจริง ซึ่งอริยสัจคือทุกข์ ซึ่งอริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ ซึ่งอริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ซึ่งอริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ แล้วข้าพเจ้าก็จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ โดยชอบได้” ดังนี้ : ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.--ภิกษุ ท. ! ส่วนผู้ใดแลพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้ารู้เฉพาะตามเป็นจริงซึ่งอริยสัจคือทุกข์ ซึ่งอริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ ซึ่งอริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ซึ่งอริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ แล้วข้าพเจ้าก็จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้” ดังนี้ : ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้. ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้าจักทำห่อด้วยใบบัว หรือใบปลาสะ หรือใบยางซาย แล้วจักใส่น้ำ หรือน้ำตกจากต้นตาล แล้วนำไปได้” ดังนี้ : ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ; ภิกษุ ท. ! ฉันใดก็ฉันนั้น ที่ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “ข้าพเจ้ารู้เฉพาะตามเป็นจริงซึ่งอริยสัจคือทุกข์ ซึ่งอริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ ซึ่งอริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ ซึ่งอริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ แล้วข้าพเจ้าก็จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบได้” ดังนี้ : ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้.--ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. 19/549/1714-1715.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๔๙/๑๗๑๔-๑๗๑๕.
ลำดับสาธยายธรรม : 6
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 69
ชื่อบทธรรม : -สัตว์ต้องเวียนว่ายเพราะไม่เห็นอริยสัจ
เนื้อความทั้งหมด :-สัตว์ต้องเวียนว่ายเพราะไม่เห็นอริยสัจ--ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนท่อนไม้อันบุคคลซัดขึ้นไปสู่อากาศ บางคราวตกเอาโคนลง บางคราวตกเอาตอนกลางลง บางคราวตกเอาปลายลง, ข้อนี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! สัตว์ที่มีอวิชชาเป็นเครื่องกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องผูกแล่นไปอยู่ท่องเที่ยวไปอยู่ในสังสารวัฏ ก็ทำนองเดียวกัน บางคราวแล่นไปจากโลกนี้สู่โลกอื่น บางคราวแล่นจากโลกอื่นสู่โลกนี้. ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้น เพราะความที่เขาเป็นผู้ไม่เห็นซึ่งอริยสัจทั้งสี่. อริยสัจสี่อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.--ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. 19/550/1716.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๐/๑๗๑๖.
ลำดับสาธยายธรรม : 6
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 70
ชื่อบทธรรม : -การรู้อริยสัจ
เนื้อความทั้งหมด :-การรู้อริยสัจ--รีบด่วนกว่าการดับไฟที่กำลังไหม้อยู่บนศีรษะ--ภิกษุ ท. ! เมื่อไฟลุกโพลงๆอยู่ที่เสื้อผ้าก็ดีที่ศีรษะก็ดี บุคคลนั้น ควรจะทำอย่างไร ?--“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เมื่อไฟลุกโพลง ๆ อยู่ที่เสื้อผ้าก็ดีที่ศีรษะก็ดี, เพื่อจะดับเสียซึ่งไฟ ที่เสื้อผ้าก็ดี ที่ศีรษะก็ดี สิ่งที่บุคคลนั้นพึงกระทำโดยยิ่งก็คือ ฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี อัปปฏิวานี สติ และสัมปชัญญะ (เพื่อจะดับไฟนั้นเสีย).”--ภิกษุ ท. ! (แม้กระนั้นก็ดี) วิญญูชนจะไม่ใส่ใจ จะไม่เอาใจใส่กับเสื้อผ้าก็ดีศีรษะก็ดีที่ไฟกำลังลุกโพลงอยู่ ; แต่จะรู้สึกว่า สิ่งที่ควรกระทำโดยยิ่งก็คือฉันทะ วายามะ อุสสาหะ อุสโสฬ๎หี (ขะมักเขม้น) อัปปฏิวานี (ไม่ถอยหลัง) สติ และสัมปชัญญะ เพื่อรู้เฉพาะตามเป็นจริง ซึ่งอริยสัจทั้งสี่ที่ตนยังไม่รู้เฉพาะ. อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่างคือ อริยสัจคือทุกข์ อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์.--ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. 19/550/1717.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๐/๑๗๑๗.
ลำดับสาธยายธรรม : 6
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site