สัทธรรมลำดับที่ : 739
ชื่อบทธรรม : -การทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิเมื่อมีปัญหาระหว่างลัทธิ
เนื้อความทั้งหมด :-การทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิเมื่อมีปัญหาระหว่างลัทธิ--(นัตถิก - อัตถิกวาท, อกิริย - กิริยวาท, อเหตุก - เหตุกวาท, อารุปปวาท, ภวนิโรธวาท)--(พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านชาวสาเลยยกะ ได้ยินเสียงเล่าลือว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ รู้แจ้งโลกทั้งปวง แสดงธรรมงดงามบริบูรณ์ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ ก็พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสด็จมาถึงหมู่บ้านนี้แล้ว จนถึงที่ประทับ. บางพวกแสดงความเคารพ บางพวกไม่แสดงความเคารพ นั่งอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่ชาวบ้านสาเลยยกะเหล่านั้น ว่า :- )--คหบดี ท. ! มีอยู่ไหม ศาสดาไรๆ ซึ่งเป็นที่พอใจของท่าน จนถึงกับท่านปลงสัทธาไปแล้วอย่างมีเหตุผล ? “ยังไม่มี พระเจ้าข้า !”--คหบดี ท. ! สำหรับพวกท่านที่ยังไม่มีศาสดาอันเป็นที่พอใจ ธรรมะอันผิดไม่ได้ (อปัณณกธรรม) นี้ มีอยู่ สำหรับพวกท่านสมาทานแล้วปฏิบัติ. คหบดี ท. ! ธรรมะอันผิดไม่ได้นั้น เมื่อท่านสมาทานเต็มเปี่ยมแล้ว จักเป็นไปเพื่อหิตสุขแก่พวกท่านตลอดกาลนาน. คหบดี ท.! ธรรมะอันผิดไม่ได้นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?--คหบดี ท. ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “ทานที่ให้แล้ว ไม่มี (ผล), ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล), การบูชาที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล), ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว ไม่มี, โลกนี้ ไม่มี, โลกอื่น ไม่มี, มารดา ไม่มี, บิดา ไม่มี, โอปปาติกะสัตว์ ไม่มี, สมณพราหมณ์ที่ไปแล้วปฏิบัติแล้วโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี” ดังนี้.--คหบดี ท. ! ยังมีสมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่ง ซึ่งมีวาทะเป็นข้าศึก โดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น กล่าวอยู่อย่างนี้ว่า “ทานที่ให้แล้ว มี (ผล), ยัญที่บูชาแล้ว มี (ผล) , การบูชาที่บูชาแล้ว มี (ผล) , ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว มี, โลกนี้ มี, โลกอื่น มี, มารดา มี, บิดา มี, โอปปาติกะสัตว์ มี, สมณพราหมณ์ที่ไปแล้วปฏิบัติแล้วโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น โดยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็มี” ดังนี้. คหบดี ท. ! ท่านจะสำคัญข้อความนี้อย่างไร : สมณพราหมณ์สองพวกนี้ เป็นผู้มีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกัน มิใช่หรือ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !”--คหบดี ท. ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ทั้งสองพวกนั้น สมณพราหมณ์ พวกใดมีวาทะมีทิฏฐิว่า “ทานที่ให้แล้ว ไม่มี, ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี, ...ฯลฯ... ผู้ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี” ดังนี้นั้น พวกเขาพึงหวังได้ในข้อนี้ คือเลิกละกุศลธรรมสามประการนี้ กล่าวคือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เสีย แล้วสมาทานประพฤติอกุศลธรรมสามประการ กล่าวคือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นแน่นอน. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ไม่มองเห็นโทษอันต่ำทรามเศร้าหมองของอกุศลธรรม และไม่มองเห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะอันเป็นธรรมขาวผ่องฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย เสียเลย. ทิฏฐิของเขา ต่อโลกอื่นซึ่งมีอยู่แท้ ๆ กลับไปเห็นเสียว่าโลกอื่นไม่มี ทิฏฐินั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ โลกอื่นซึ่งมีอยู่แท้ ๆ เขาดำริไปว่า โลกอื่นไม่มี ความดำรินั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาสังกัปปะ. เขากล่าวซึ่งโลกอื่นอันมีอยู่แท้ ๆ ว่าโลกอื่นไม่มี วาจานั้นของเขา จึงเป็นมิจฉาวาจา. เขากล่าวซึ่งโลกอื่นอันมีอยู่แท้ ๆ ว่าโลก--อื่นไม่มี เช่นนี้ชื่อว่าเขาทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลกอื่น. โลกอื่นมีอยู่แท้ ๆ เขาทำให้ผู้อื่นสำคัญว่าโลกอื่นไม่มี การกระทำของเขานั้น จึงเป็นอสัทธัมมสัญญัตติ์ (ทำให้ผู้อื่นหมายมั่นในอสัทธรรม) และด้วยอสัทธัมมสัญญัตติ์ของเขานั่นเอง เขายกตนข่มผู้อื่น. ด้วยการกระทำอย่างนี้ ชื่อว่า เขาละปกติภาวะอันดีงามในกาลก่อนของเขาเสีย มาตั้งอยู่ในปกติภาวะอันเลวทราม คือมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยเจ้า อสัทธัมมสัญญัตติ์ การยกตน และการข่มผู้อื่น. ด้วยอาการอย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามกเป็นอเนกเหล่านั้น ย่อมเกิดแก่เขา เพราะมีมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย.--คหบดี ท. ! ในบรรดาทิฏฐิทั้งสองอย่างนั้น บุรุษผู้วิญญูชน ย่อม ใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า ถ้าโลกอื่นไม่มี บุรุษผู้เจริญ (ผู้ถืออยู่ว่าโลกอื่นไม่มี) นี้หลังจากการตายเพราะการทำลายแห่งกาย จักทำความสวัสดีให้แก่ตนได้ เพราะเหตุนั้น ก็จริงอยู่ ; แต่ถ้าโลกอื่นไม่มี บุรุษผู้เจริญนี้ หลังจากการตายเพราะการทำลายแห่งกาย จักเข้าถึงอบายทุคติวินิบาตนรก เพราะเหตุนั้น เป็นแน่แท้. เอาละ เป็นอันว่าโลกอื่นก็อย่ามี คำจริงของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ก็ไม่ต้องเอามากล่าวอ้าง ; ถึงกระนั้น บุรุษผู้เจริญนั้น ก็ยังจะถูกวิญญูชนติเตียนในทิฏฐิธรรมนี้แหละ ว่าเป็นคนทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็น นัตถิกวาท ดังนี้อยู่นั่นเอง. ถ้าว่าโลกอื่นเกิดมีขึ้นมาจริงๆแล้ว การได้รับกระลี๑ ทั้งสองฝ่าย ย่อมมีแก่บุรุษผู้เจริญนั้น กล่าวคือ ในทิฏฐิธรรมนี้ก็ถูกวิญญูชนติเตียน และหลังจากการตายเพราะการทำลายแห่งกาย ก็เข้าถึงอบายทุคติวินิบาตนรก.--๑. คำว่า กระลี (ในบทว่า กลิคฺคาโห) เป็นคำที่แปลเป็นไทยได้ยาก หมายถึงความชั่วร้ายที่มาจากผีชนิดหนึ่ง ในที่นี้ จึงแปลทับศัพท์ว่า “กระลี“ ซึ่งแม้จะแปลว่า ความชั่ว ความเลว ความพ่ายแพ้ ฯลฯ ก็ไม่มีความหมายเต็มตามความหมายเดิมของคำคำนี้.--นี่แหละ คืออปัณณกธรรม (ธรรมอันผิดไม่ได้) นี้ ที่ทุกคนนี้ถือเอาผิดโดยสิ้นเชิงย่อมแผ่ไป โดยท่าเดียว ตั้งอยู่อย่างลิดรอนซึ่งรากฐานแห่งกุศล.--คหบดี ท. ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ทั้งสองพวกนั้น สมณพราหมณ์พวกใด มีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “ทานที่ให้แล้ว มี(ผล), ยัญที่บูชาแล้ว มี(ผล), ... ฯลฯ ... ผู้ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็มี” ดังนี้นั้น พวกเขาพึงหวังได้ในข้อนี้ คือเลิกละอกุศลธรรมสามประการ กล่าวคือกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เสีย แล้วสมาทานประพฤติกุศลธรรมสามประการ กล่าวคือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นแน่นอน. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่าสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น มองเห็นโทษอันต่ำทรามเศร้าหมอง ของอกุศลธรรม และมองเห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรมขาวผ่องฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย. ทิฏฐิของเขา ต่อโลกอื่นซึ่งมีอยู่นั่นเทียว ก็เป็นทิฏฐิที่เห็นว่าโลกอื่นมีอยู่ ทิฏฐินั้นของเขาจึงเป็นสัมมาทิฏฐิ โลกอื่นซึ่งมีอยู่นั่นเทียว เขาก็ดำริว่าโลกอื่นมีอยู่ ความดำรินั้นของเขา จึงเป็นสัมมาสังกัปปะ. เขากล่าวซึ่งโลกอื่นอันมีอยู่นั่นเทียวว่าโลกอื่นมีอยู่ วาจานั้นของเขา จึงเป็นสัมมาวาจา. เขากล่าวซึ่งโลกอื่นอันมีอยู่นั่นเทียว ว่าโลกอื่นมีอยู่ เช่นนี้ชื่อว่าเขาทำตนไม่เป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลกอื่น. โลกอื่นมีอยู่นั่นเทียว เขาทำให้ผู้อื่นสำคัญว่าโลกอื่นมีอยู่ การกระทำของเขานั้น จึงเป็น สัทธัมมสัญญัตติ์ (ทำให้ผู้อื่นหมายมั่นในสัทธรรม) และด้วยสัทธัมมสัญญัตติ์ของเขานั่นเอง เขาย่อมไม่ยกตนข่มผู้อื่น. ด้วยการกระทำอย่างนี้ ชื่อว่า เขาละปกติภาวะอันเลวทรามในกาลก่อนของเขาเสีย มาตั้งอยู่ในภาวะอันดีงาม คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ความไม่เป็นข้าศึกต่อพระอริยเจ้า สัทธัมมสัญญัตติ์ การไม่ยกตัว และการไม่ข่มผู้อื่น. ด้วย--อาการอย่างนี้ กุศลธรรมอเนกเหล่านั้น ย่อมเกิดแก่เขาเพราะมีสัมมาทิฏฐิ เป็นปัจจัย.--คหบดี ท. ! ในบรรดาทิฏฐิทั้งสองอย่างนั้น บุรุษผู้วิญญูชน ย่อม ใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า ถ้าโลกอื่นมีอยู่ บุรุษผู้เจริญนี้ หลังจากการตายเพราะการทำลายแห่งกาย จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุนั้น. เอาละ เป็นอันว่าโลกอื่นก็อย่ามีกันเลย คำจริงของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ก็ไม่ต้องเอามากล่าวอ้าง; ถึงกระนั้น บุรุษผู้เจริญนั้น ก็ยังจะเป็นผู้อันวิญญูชนสรรเสริญในทิฏฐิธรรมนี้แหละ ว่าเป็นคนมีศีล เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็น อัตถิกวาท ดังนี้ อยู่นั่นเอง. ถ้าว่าโลกอื่นเกิดมีขึ้นมาจริงๆแล้ว การถือเอาซึ่งความสำเร็จทั้งสองฝ่าย ย่อมมีแก่บุรุษผู้เจริญนั้น กล่าวคือ ในทิฏฐิธรรมนี้ก็เป็นผู้อันวิญญูชนสรรเสริญ และหลังจากการตายเพราะการทำลายแห่งกายก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. นี่แหละคืออปัณณกธรรม (ธรรมอันผิดไม่ได้) นี้ ที่บุคคลนี้ถือเอาถูกโดยสิ้นเชิง ย่อมแผ่ไป โดยส่วนทั้งสอง ตั้งอยู่อย่างลิดรอนซึ่งรากฐานแห่งอกุศล.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ม.ม. 13/101 - 105/104 - 109.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ม.ม. ๑๓/๑๐๑ - ๑๐๕/๑๐๔ - ๑๐๙.
ลำดับสาธยายธรรม : 56
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 740
ชื่อบทธรรม : -เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ในลักษณะที่เป็นทิฏฐิ คือเป็นเพียงความเห็น ไม่มีประจักษ์พยานที่เป็นวัตถุสิ่งของมาแสดงให้เห็นชัดได้ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องสร้างทิฏฐิขึ้นมาในลักษณะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขโดยส่วนเดียว
เนื้อความทั้งหมด :-(สัมมาทิฏฐิแห่งพระบาลีนี้ ยังเป็นประเภท โลกิยสัมมาทิฏฐิ คือยังมีอาสวะ มีความยึดมั่นว่าสัตว์ว่าบุคคล มีความดีความชั่ว มีนรกสวรรค์ เป็นต้น ซึ่งแบ่งได้เป็นสองฝ่าย.--เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ในลักษณะที่เป็นทิฏฐิ คือเป็นเพียงความเห็น ไม่มีประจักษ์พยานที่เป็นวัตถุสิ่งของมาแสดงให้เห็นชัดได้ ก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องสร้างทิฏฐิขึ้นมาในลักษณะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขโดยส่วนเดียว. ตัวอย่างปัญหาเกิดขึ้นมาว่า โลกอื่นมี หรือไม่มี เราจะต้องถือเอาข้างฝ่ายทิฏฐิที่ทำให้เกิดประโยชน์โดยส่วนเดียว ซึ่งในที่นี้ได้แก่ทิฏฐิที่ถือว่าโลกอื่นมี ซึ่งเป็นเหตุให้ขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์อันเป็นไปเพื่อโลกอื่น และได้รับประโยชน์--สุขในโลกอื่น; ถ้าเผอิญโลกอื่นไม่มี ตนก็ไม่เสียประโยชน์อะไร การกระทำเพื่อประโยชน์โลกอื่นก็ไม่เสียเปล่า คือเป็นความดีที่ได้รับการสรรเสริญจากวิญญูชนในโลกนี้ และได้รับประโยชน์สุขในโลกนี้อย่างเต็มที่. ดังนั้นจึงสรุปว่า การมีทิฏฐิว่าโลกอื่นมี ย่อมถือเอาได้ซึ่งประโยชน์โดยส่วนสอง คือแม้โลกอื่นจะไม่มีก็ยังได้รับประโยชน์ ยิ่งโลกอื่นมีก็ยิ่งได้รับประโยชน์จึง เรียกทิฏฐิชนิดนี้ว่าเป็นอปัณณกธรรม คือธรรมที่ผิดไม่ได้ทั้งสองฝ่าย เป็นสัมมาทิฏฐิที่ตัดปัญหาออกไปเสียได้โดยประการทั้งปวง ในเมื่อเกิดปัญหาที่แย้งกันอย่างตรงข้ามเป็นสองฝ่าย ดังที่กล่าวไว้ในพระบาลีนี้. เราจึงถือว่า สัมมาทิฏฐิ ชนิดนี้ระงับผลร้ายเสียได้ในเมื่อเกิดการขัดแย้งในระหว่างลัทธิ.--ในความขัดแย้งระหว่างทิฏฐิคู่อื่นๆ เช่นทิฏฐิว่า การกระทำไม่ชื่อว่าเป็นอันกระทำหรือการกระทำชื่อว่าเป็นอันกระทำ (ทำบุญทำบาปไม่ชื่อว่าเป็นอันกระทำ หรือทำบุญทำบาปชื่อว่าเป็นอันกระทำ) เกิดเป็นปัญหาขัดแย้งกันขึ้นมาแล้ว พึงเลือกถือเอาทิฏฐิข้างฝ่ายที่จะผิดไม่ได้อีกอย่างเดียวกัน คือทิฏฐิที่ว่า การกระทำชื่อว่าเป็นอันกระทำและเลือกกระทำแต่ฝ่ายข้างดี; แม้สมมุติว่าการกระทำนั้นจะไม่เป็นการกระทำ เขาก็ยังได้รับผลของการกระทำ คือเป็นที่สรรเสริญแห่งวิญญูชน และผู้นั้นก็ได้รับประโยชน์สุขอยู่นั่นเอง. นี้เป็น สัมมาทิฏฐิที่ควรมี หรือถือเป็นหลักในเมื่อเกิดการขัดแย้งขึ้นเกี่ยวกับลัทธิที่ต่างกันชนิดหนึ่ง. - ม. ม. ๑๓/๑๐๕-๑๑๐ /๑๑๐-๑๑๔.--สำหรับทิฏฐิที่ว่ามีเหตุหรือไม่มีเหตุแห่งความเศร้าหมองหรือความบริสุทธิ์ของสัตว์ นั้น ก็มีหลักเกณฑ์ทำนองเดียวกัน คือถ้า ถือว่า มีเหตุ ก็จะเป็นความปลอดภัยกว่าการถือว่าไม่มีเหตุ. ผู้ที่ถือว่ามีเหตุ ย่อมกระทำการกระทำที่เป็นการสร้างเหตุดีเว้นเหตุชั่ว; สมมุติว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุขึ้นมา การกระทำของเขาก็ยังเป็นความดีทั้งสองสถาน คือวิญญูชนสรรเสริญ และเขาก็ได้รับผลดีแห่งการกระทำของเขา คือเป็นสุขทั้งโลกนี้และโลกอื่น. แม้นี้ก็คือ สัมมาทิฏฐิที่ควรสร้างขึ้น เมื่อมีการขัดแย้งระหว่างลัทธิ ด้วยเหมือนกัน. - ม. ม. ๑๓/๑๑๑-๑๑๕/๑๑๕-๑๑๙.--สำหรับทิฏฐิที่ว่า อารุปปธรรม (คุณสมบัติที่เป็นสภาวะไม่มีรูป) เป็นสิ่งที่ มีอยู่หรือไม่ได้มีอยู่ นั้น ิญญูชนจะเลือกถือเอาข้างที่ว่า มีอยู่ และปฏิบัติเพื่อให้ได้ซึ่งคุณธรรมประเภทที่--ไม่มีรูปนั้น เขาก็จะได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ; คือสมมุติว่าถ้าอารุปปธรรมเป็นสิ่งที่มิได้มีอยู่ เขาก็ยังได้รับประโยชน์ที่รองลงมา คือ รุปปธรรม (คุณสมบัติหรือคุณค่าที่มีรูป). ถ้าหากว่าอารุปปธรรมมีจริง เขาก็จะได้รับคุณค่าหรือประโยชน์ชั้นที่เป็นอารุปปธรรมนั้นตามความมุ่งหมาย. ดังนั้น การที่ถือว่า อารุปปธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่นั้น จัดเป็นสัมมาทิฏฐิที่ไม่อาจจะผิดได้ ในเมื่อเกิดการขัดแย้งกันขึ้นในระหว่างลัทธิ. อนึ่ง ถ้าอธิบายตามแบบเก่าๆ อย่างในอรรถกถา ก็คือให้ถือว่า อรูปพรหมมีอยู่ แล้วปฏิบัติเพื่ออรูปพรหมนั้น ถ้าสมมุติว่าอรูปพรหมไม่มี ก็ยังได้รับผลเป็นรูปพรหมที่รองลงมา แต่ถ้าอรูปพรหมมีก็จะได้รับผลเต็มตามความหมายของอรูปพรหม จึงถือว่าเป็นทิฏฐิที่ถูกต้อง. อีกอย่างหนึ่ง ถ้ากล่าวสำหรับผู้มีการศึกษาแห่งยุคปัจจุบัน ก็ต้องกล่าวว่า คุณค่าหรือคุณสมบัติชนิดที่ไม่ต้องมีสภาวะเป็นรูปธรรม (คือไม่เป็นวัตถุนิยม) นั้นก็มีอยู่และมีผลเป็นความสะดวกกว่า สบายกว่าเป็นสุขสงบกว่า ประเสริฐกว่า เพราะไม่ต้องมีการกระทบกระทั่งฝ่ายรูปธรรม เช่นการทะเลาะวิวาทหรือป่วยไข้ทางร่างกายเป็นต้น. - ม. ม. ๑๓/๑๑๕/๑๒๐.--สำหรับทิฏฐิว่า ความดับแห่งภพโดยประการทั้งปวง เป็นสิ่งที่มีอยู่หรือไม่มี นั้น วิญญูชนจะถือเอาข้างฝ่ายที่ถือว่า มีความดับแห่งภพ แล้วก็ปฏิบัติเพื่อความดับแห่งภพ เขาก็จะได้รับผลเป็นปรินิพพานในทิฏฐธรรมนี้; ส่วนพวกที่ถือว่า ความดับแห่งภพโดยประการทั้งปวงไม่มีนั้น เขาก็จะไปติดตันตายด้านอยู่เพียงแค่อรูปภพอันเป็นภพสูงสุด. ดังนั้น การถือว่า ความดับแห่งภพโดยประการทั้งปวงมีอยู่ นั้นเป็นสัมมาทิฏฐิที่ไม่มีทางจะผิดได้ ในเมื่อมีการมีการทุ่มเถียงขัดแย้ง กันระหว่างลัทธิ. - ม.ม ๑๓/๑๑๗/๑๒๑.--สรุปความว่า ปัญหาทางลัทธินั้น คือปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นตัว หรือได้ยินเสียงโดยตรง จนถึงกับเรากล่าวว่ามันเป็นอย่างไรๆได้ ดังนั้น จึงต้องตั้งขึ้นเป็นลัทธิชนิดที่เป็นสัมมาทิฏฐิ คือทำให้ได้รับประโยชน์โดยส่วนเดียวเกี่ยวกับสิ่งที่เขามองไม่เห็นหรือฟังเสียงโดยตรงไม่ได้นั้นๆ เราจึงต้องจัดทำหรือต้องมีอย่างถูกต้องชนิดผิดไม่ได้ ดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อธรรมะเหล่านี้).--การเห็นกายและเวทนาในระดับแห่งผู้หลุดพ้น--อัคคิเวสสนะ ! กายนี้ มีรูป ประกอบด้วยมหาภูตสี่ มีมารดาบิดา เป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด ทั้งที่มีการขัดสีนวดฟั้นอยู่ก็ยังมีการแตกสลายกระจัดกระจายเพราะความไม่เที่ยงนั่นเองเป็นธรรมดา อันบุคคลควรตามเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน. เมื่อบุคคคลนั้น ตามเห็นอยู่ซึ่งกายนี้โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน, ความพอใจในกาย ความสิเนหาในกาย ความตกอยู่ในอำนาจของกาย ที่มีอยู่ในกาย เขาย่อมละเสียได้.--อัคคิเวสสนะ ! เวทนาสามอย่าง เหล่านี้ มีอยู่ คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา. อัคคิเวสสนะ ! สมัยใด บุคคลเสวยสุขเวทนา, สมัยนั้นไม่ได้เสวยทุกขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา, สมัยนั้นคงเสวยแต่สุขเวทนาเท่านั้น. อัคคิเวสสนะ ! สมัยใด บุคคลเสวยทุกขเวทนา, สมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยอทุกขมสุขเวทนา, สมัยนั้นคงเสวยแต่ทุกขเวทนาเท่านั้น. อัคคิเวสสนะ ! สมัยใด บุคคลเสวยอทุกขมสุขเวทนา, สมัยนั้นไม่ได้เสวยสุขเวทนา ไม่ได้เสวยทุกขเวทนา, สมัยนั้นคงเสวยแต่อทุกขมสุขเวทนาเท่านั้น.--อัคคิเวสสนะ ! สุขเวทนา เป็นของไม่เที่ยง (อนิจฺจา) เป็นของปรุงแต่ง (สงฺขตา) เป็นของอาศัยกันเกิดขึ้น (ปฏิจฺจสมุปฺปนฺนา) มีความสิ้นไป--เป็นธรรมดา (ขยธมฺมา) มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา (วยธมฺมา) มีความจางคลายไปเป็นธรรมดา (วิราคธมฺมา) มีความดับไปเป็นธรรมดา (นิโรธธมฺมา). อัคคิเวสสนะ ! แม้ทุกขเวทนา ก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นของปรุงแต่ง เป็นของอาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความจางคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา. อัคคิเวสสนะ ! แม้อทุกขมสุขเวทนา ก็เป็นของไม่เที่ยง เป็นของปรุงแต่ง เป็นของอาศัยกันเกิดขึ้น มีความสิ้นไปเป็นธรรมดา มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา มีความจางคลายไปเป็นธรรมดา มีความดับไปเป็นธรรมดา.--อัคคิเวสสนะ ! อริยสาวกผู้มีการสดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสุขเวทนา แม้ในทุกขเวทนา แม้ในอทุกขมสุขเวทนา ; เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด ; เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น ; เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอย่างอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความหลุดพ้นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.--อัคคิเวสสนะ ! ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้แล ย่อมไม่กล่าวคำประจบใครๆ ย่อมไม่กล่าวคำขัดแย้งใครๆ และโวหารใดที่เขากล่าวกันอยู่ในโลก เธอก็กล่าวโดยโวหารนั้น ไม่ยึดมั่นความหมายไรๆ อยู่. (เมื่อจบพระพุทธดำรัสนี้ พระสารีบุตรผู้ถวายงานพัดอยู่เบื้องหลัง ได้บรรลุพระอรหันต์).-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ม.ม. 13/266-267/272-273.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ม.ม. ๑๓/๒๖๖-๒๖๗/๒๗๒-๒๗๓.
ลำดับสาธยายธรรม : 56
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 741
ชื่อบทธรรม : -สัมมาทิฏฐิในการเจริญธรรมสาม เพื่อละธรรมสาม
เนื้อความทั้งหมด :-สัมมาทิฏฐิในการเจริญธรรมสาม เพื่อละธรรมสาม--ภิกษุ ท. ! ธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่. สามอย่าง อย่างไรเล่า ? สามอย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ. ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล ธรรม ๓ อย่างนั้น.--ภิกษุ ท. ! เพื่อละเสียซึ่งธรรมสามอย่างเหล่านี้ ควรเจริญซึ่งธรรม ๓ อย่าง. ธรรมสามอย่าง อย่างไรเล่า ? สามอย่างคือ :---เจริญ อสุภะ เพื่อละเสียซึ่ง ราคะ; เจริญ เมตตา เพื่อละเสียซึ่ง โทสะ; เจริญ ปัญญา เพื่อละเสียซึ่ง โมหะ.--ภิกษุ ท. ! ธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ อันบุคคลควรเจริญเพื่อละเสีย ซึ่งธรรมสามอย่างเหล่าโน้นแล.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ฉกฺก. อํ. 22/495/378.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๙๕/๓๗๘.
ลำดับสาธยายธรรม : 56
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 742
ชื่อบทธรรม : -สัมมาทิฏฐิในการเจริญธรรมสาม เพื่อละธรรมสาม
เนื้อความทั้งหมด :-สัมมาทิฏฐิในการเจริญธรรมสาม เพื่อละธรรมสาม--(อีกนัยหนึ่ง)--ภิกษุ ท. ! ธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่. สามอย่าง อย่างไรเล่า ? สามอย่าง คือ กามสัญญา พ๎ยาปาทสัญญา วิหิงสาสัญญา. ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล ธรรม ๓ อย่างนั้น.--ภิกษุ ท. ! เพื่อละเสียซึ่งธรรมสามอย่างเหล่านี้ ควรเจริญซึ่งธรรม ๓ อย่าง. ธรรมสามอย่าง อย่างไรเล่า? สามอย่างคือ :---เจริญ เนกขัมมสัญญา เพื่อละเสียซึ่ง กามสัญญา; เจริญ อัพ๎ยาปาทสัญญา เพื่อละเสียซึ่ง พ๎ยาปาทสัญญา; เจริญ อวิหิงสาสัญญา เพื่อละเสียซึ่ง วิหิงสาสัญญา.--ภิกษุ ท. ! ธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ อันบุคคลควรเจริญเพื่อละเสียซึ่งธรรมสามอย่างเหล่าโน้นแล.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ฉกฺก. อํ. 22/496/381.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๙๖/๓๘๑.
ลำดับสาธยายธรรม : 56
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 743
ชื่อบทธรรม : -สัมมาทิฏฐิในการเจริญธรรมสาม เพื่อละธรรมสาม
เนื้อความทั้งหมด :-สัมมาทิฏฐิในการเจริญธรรมสาม เพื่อละธรรมสาม--(อีกนัยหนึ่ง)--ภิกษุ ท. ! ธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่. สามอย่าง อย่างไรเล่า ? สามอย่าง คือ กามวิตก พ๎ยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก. ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล ธรรม ๓ อย่างนั้น.--ภิกษุ ท. ! เพื่อละเสียซึ่งธรรมสามอย่างเหล่านี้ ควรเจริญธรรม ๓ อย่าง. ธรรมสามอย่าง อย่างไรเล่า ? สามอย่างคือ :---เจริญ เนกขัมมวิตก เพื่อละเสียซึ่ง กามวิตก; เจริญ อัพ๎ยาปาทสัญญา เพื่อละเสียซึ่ง พ๎ยาปาทวิตก; เจริญ อวิหิงสาวิตก เพื่อละเสียซึ่ง วิหิงสาวิตก.--ภิกษุ ท. ! ธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ อันบุคคลควรเจริญเพื่อละเสียซึ่งธรรมสามอย่างเหล่าโน้นแล.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ฉกฺก. อํ. 22/495/380.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๙๕/๓๘๐.
ลำดับสาธยายธรรม : 56
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 744
ชื่อบทธรรม : -สัมมาทิฏฐิในการเจริญธรรมสาม เพื่อละธรรมสาม
เนื้อความทั้งหมด :-สัมมาทิฏฐิในการเจริญธรรมสาม เพื่อละธรรมสาม--(อีกนัยหนึ่ง)--ภิกษุ ท. ! ธรรม ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. สามอย่าง อย่างไรเล่า ? สามอย่าง คือ กามธาตุ พ๎ยาปาทธาตุ วิหิงสาธาตุ. ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล ธรรม ๓ อย่างนั้น.--ภิกษุ ท. ! เพื่อละเสียซึ่งธรรมสามอย่างเหล่านี้ ควรเจริญซึ่งธรรม ๓ อย่าง. ธรรมสามอย่าง อย่างไรเล่า ? สามอย่างคือ :---เจริญ เนกขัมมธาตุ เพื่อละเสียซึ่ง กามธาตุ; เจริญ อัพ๎ยาปาทสัญญา เพื่อละเสียซึ่ง พ๎ยาปาทวิตก; เจริญ อวิหิงสาธาตุ เพื่อละเสียซึ่ง วิหิงสาธาตุ.--ภิกษุ ท. ! ธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ อันบุคคลควรเจริญเพื่อละเสีย ซึ่งธรรมสามอย่างเหล่าโน้นแล.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ฉกฺก. อํ. 22/496/382.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๙๖/๓๘๒.
ลำดับสาธยายธรรม : 56
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 745
ชื่อบทธรรม : -ข้อปฎิบัติเกี่ยวกับธาตุห้า
เนื้อความทั้งหมด :-ข้อปฎิบัติเกี่ยวกับธาตุห้า--ราหุล ! รูป อย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันอุปาทาน (ของคนหรือสัตว์) เข้าไปถือเอาแล้ว. ตัวอย่างเช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ ลำไส้สุด อาหารในกระเพาะ อุจจาระ; หรือจะยังมีรูปแม้อื่น อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของหยาบ มีลักษณะแข้นแข็ง อันอุปาทาน (ของคนหรือสัตว์) เข้าไปถือเอาแล้ว อย่างเดียวกันนี้. ราหุล ! นี้ เรียกว่า ปฐวีธาตุ อันเป็นภายใน. ปฐวีธาตุอันใด อันเป็นภายในด้วย ปฐวีธาตุอันเป็นภายนอกด้วย นั้นก็เป็น สักว่าปฐวีธาตุ เสมอกัน. ใครๆ พึงเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ; ครั้นเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายต่อปฐวีธาตุ ย่อมคลายกำหนัดจากปฐวีธาตุ.--ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดิน (ปฐวี) เถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดิน อยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่. ราหุล ! เปรียบเหมือนเมื่อคนเขาทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง ทิ้งคูถบ้าง ทิ้งมูตรบ้าง ทิ้งน้ำลายบ้าง หนองบ้าง โลหิตบ้าง ลงบนแผ่นดิน แผ่นดินก็ไม่รู้สึกอึดอัดระอารังเกียจ ด้วยสิ่งเหล่านั้น, นี้ฉันใด; ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดินเถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยแผ่นดินอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่ ฉันนั้นเหมือนกัน.--ราหุล ! อาโปธาตุ เป็นอย่างไรเล่า ? อาโปธาตุมีทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก. ราหุล ! อาโปธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไรเล่า ? อาโปธาตุอันใด อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของเหลว อันอุปาทาน (ของคนหรือของสัตว์) เข้าไปถือเอาแล้ว, ตัวอย่างเช่น น้ำดี เสลด หนอง โลหิต เหงื่อ มัน น้ำตา น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำเมือก น้ำหล่อลื่นข้อ น้ำมูตร นี้ก็ดี; หรือจะยังมี อาโปธาตุ อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของเหลว อันอุปาทานเข้าไปถือเอาแล้ว ไรๆ อื่นนอกไปจากนี้ อันใดก็ดี. ราหุล ! อาโปธาตุทั้งสองประเภทนี้ เรียกว่า อาโปธาตุ อันเป็นภายใน. อาโปธาตุอันเป็นภายในด้วย อาโปธาตุอันเป็นภายนอกด้วย นั้นก็เป็น สักว่าอาโปธาตุ เท่านั้น. ใครๆ พึงเห็นอาโปธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ; ครั้นเห็นอาโปธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายต่ออาโปธาตุ ย่อมคลายกำหนัดจากอาโปธาตุ.--ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยน้ำ (อาโป) เถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยน้ำอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่. [ข้อความต่อไปจากนี้ ตรัสถึงการที่น้ำไม่อึดอัดระอาต่อสิ่งปฎิกูลและไม่ปฎิกูลนานาชนิด (ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนที่ว่าด้วยธาตุดิน) ที่เขาล้างลงไปในน้ำ, อันเป็นอุปมาของจิตที่อบรมแล้วเสมอด้วยน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น].--ราหุล ! เตโชธาตุ เป็นอย่างไรเล่า ? เตโชธาตุมีทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก. ราหุล ! เตโชธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไรเล่า ? เตโชธาตุอันใด อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของเผาผลาญ อันอุปาทานเข้าไปถือเอาแล้ว, ตัวอย่างเช่น ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น ไฟที่ยังกายให้ทรุดโทรม ไฟที่ยังกายให้กระวนกระวาย และไฟที่เผาอาหารอันกินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว ให้แปรไปโดยชอบ นี้ก็ดี; หรือจะยังมีเตโชธาตุ อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของเผาผลาญ อันอุปาทาน เข้าไปถือเอาแล้ว ไรๆ อื่นนอกไปจากนี้ อันใดก็ดี. ราหุล ! เตโชธาตุทั้งสองประเภทนี้ เรียกว่า เตโชธาตุอันเป็นภายใน. เตโชธาตุอันเป็นภายนอกใน เตโชธาตุอันเป็นภายนอกด้วย นั้นก็เป็น สักว่าเตโชธาตุ เท่านั้น. ใครๆ พึงเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ; ครั้นเห็นเตโชธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายต่อเตโชธาตุ ย่อมคลายกำหนัดจากเตโชธาตุ.--ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยไฟ (เตโช) เถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยไฟอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ อันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่. [ข้อความต่อไปจากนี้ ตรัสถึงการที่ไฟไม่อึดอัดระอาต่อสิ่ง--ปฎิกูลและไม่ปฎิกูลนานาชนิด (ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนที่ว่าด้วยธาตุดิน) ที่เขาทิ้งลงไปให้มันไหม้, อันเป็นอุปมาของจิตที่อบรมแล้วเสมอด้วยไฟ ฉันใดก็ฉันนั้น].--ราหุล ! วาโยธาตุ เป็นอย่างไรเล่า ? วาโยธาตุมีทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก. ราหุล ! วาโยธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไรเล่า ? วาโยธาตุอันใด อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของพัดไปมา อันอุปาทาน เข้าไปถือเอาแล้ว, ตัวอย่างเช่น ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้ ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นี้ก็ดี; หรือจะยังมีวาโยธาตุ อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของพัดไปมา อันอุปาทาน เข้าไปถือเอาแล้ว ไรๆ อื่นนอกไปจากนี้ อันใดก็ดี. ราหุล ! วาโยธาตุทั้งสองประเภทนี้ เรียกว่าวาโยธาตุอันเป็นภายใน. วาโยธาตุอันเป็นภายในด้วย วาโยธาตุอันเป็นภายนอกด้วย นั้นก็เป็น สักว่าวาโยธาตุ เท่านั้น. ใครๆ พึงเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ; ครั้นเห็นวาโยธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายต่อวาโยธาตุ ย่อมคลายกำหนัดจากวาโยธาตุ.--ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยลม (วาโย) เถิด เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยลมอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ อันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่. [ข้อความต่อไปจากนี้ ตรัสถึงการที่ลมไม่อึดอัดระอาต่อสิ่งปฎิกูลและไม่ปฎิกูลนานาชนิด (ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนที่ว่าด้วยธาตุดิน) ที่ลมพัดผ่านเข้าไป, อันเป็นอุปมาของจิตที่อบรมแล้วเสมอด้วยลม ฉันใดก็ฉันนั้น].--ราหุล ! อากาสธาตุ เป็นอย่างไรเล่า ? อากาสธาตุมีทั้งที่เป็นภายในและเป็นภายนอก. ราหุล ! อากาสธาตุที่เป็นภายใน เป็นอย่างไรเล่า ? อากาสธาตุอันใด อันเป็นภายใน เฉพาะตน เป็นของแสดงลักษณะแห่งความว่าง อันอุปาทานเข้าไปถือเอาแล้ว, ตัวอย่างเช่น ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ที่ว่างที่อาหารอันกินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว ผ่านไป ที่ว่างที่อาหารอันกินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว ตั้งอยู่ ช่องที่อาหารอันกินแล้ว ดื่มแล้ว เคี้ยวแล้ว ลิ้มแล้ว ออกสู่เบื้องล่าง นี้ก็ดี ; หรือจะยังมีอากาสธาตุ อันเป็นภายในเฉพาะตน เป็นของแสดงลักษณะแห่งความว่าง ไรๆ อื่นนอกไปจากนี้ ซึ่งไม่ตัน มีลักษณะไม่ตัน เป็นของเปิด มีลักษณะเปิด อันเนื้อและเลือดไม่เข้าไปบรรจุอยู่อันเป็นภายใน อันอุปาทาน เข้าไปถือเอาแล้ว อันใดก็ดี. ราหุล ! อากาสธาตุทั้งสองประเภทนี้ เรียกว่าอากาสธาตุอันเป็นภายใน. อากาสธาตุอันเป็นภายในด้วย อากาสธาตุอันเป็นภายนอกด้วย นั้นก็เป็น สักว่าอากาสธาตุ เท่านั้น. ใครๆ พึงเห็นอากาสธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ; ครั้นเห็นอากาสธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริง อย่างนี้แล้ว จิตย่อมเบื่อหน่ายต่ออากาสธาตุ ย่อมคลายกำหนัดจากอากาสธาตุ.--ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยอากาสเถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยอากาสอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่. ราหุล ! เปรียบเหมือนอากาส เป็นสิ่งมิได้ตั้งอยู่เฉพาะในที่ไรๆ, นี้ฉันใด; ราหุล ! เธอจงอบรมจิตให้เสมอด้วยอากาสเถิด. เมื่อเธออบรมจิตให้เสมอด้วยอากาสอยู่, ผัสสะทั้งหลายที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจอันเกิดขึ้นแล้ว จักไม่กลุ้มรุมจิตตั้งอยู่, ฉันนั้นเหมือนกัน.--- ม. ม.๑๓/๑๓๕-๑๔๐/๑๓๕+๑๔๐, ๑๓๖+๑๔๑, ๑๓๗+๑๔๒, ๑๓๘+๑๔๓, ๑๓๙+๑๔๔.--สัมมาทิฏฐิ ในอาเนญชสัปปายปฏิปทา--ข้อที่หนึ่ง--ภิกษุ ท. ! ในข้อที่กามเป็นอันตรายแก่อริยสาวกผู้ศึกษาอยู่ในธรรมวินัยนี้นั้น อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นโดยประจักษ์ ดังนี้ว่า “กามและกามสัญญาอันเป็นไปในทิฏฐธรรม (ภพนี้) และเป็นไปในสัมปรายะ (ภพอื่น) ทั้งสองอย่างนั้นเป็นบ่วงมาร เป็นวิสัยแห่งมาร เป็นเหยื่อแห่งมาร เป็นที่เที่ยวแห่งมาร. ในบ่วงแห่งมารนี้ บาปอกุศลทางใจเหล่านี้ เป็นอภิชฌาบ้าง เป็นพยาบาทบ้าง เป็นสารัมภะ (ความแข่งดี) บ้าง ย่อมเป็นไป ; บาปอกุศลเหล่านั้น ย่อมมีเพื่อเป็นอันตรายแก่อริยสาวกผู้ตามศึกษาอยู่ในธรรมวินัยนี้. ถ้าอย่างไร เราพึงมีจิตเป็นมหัคคตะอันไพบูลย์ อธิษฐานจิตครอบงำโลก อยู่เถิด ; เมื่อเรามีจิตเป็นมหัคคตะอันไพบูลย์ อธิษฐานจิตครอบงำโลกอยู่, บาปอกุศลทางใจเป็นอภิชฌาบ้าง เป็นพยาบาทบ้าง เป็นสารัมภะบ้าง เหล่านั้น จักไม่มี; เพราะละบาปอกุศลเหล่านั้นเสียได้ จิตของเราก็จักเป็นจิตมีคุณไม่เล็กน้อย เป็นจิตไม่มี ประมาณเป็นจิตอันอบรมดีแล้ว” ดังนี้.--เมื่ออริยสาวกนั้น ปฏิบัติแล้วอย่างนี้ เป็นผู้มากด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ อยู่, จิตย่อมเลื่อมใสในอายตนะ๑ เมื่อจิตเลื่อมใสสมบูรณ์ เขาก็จะเข้าถึง--๑. คำว่า อายตนะ ในที่นี้ ไม่หมายถึงนิพพาน อันเป็นอายตนะสูงสุด ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป แต่หมายถึงอายตนะคือภาวะแห่งอรูปฌานทั้งสี่ คือ อากาสานัญจายตนะ ฯลฯ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โดยเฉพาะ เพราะไม่มีรูปหรือสัญญาในรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งความหวั่นไหว, แต่บางมติหมายต่ำลงมาถึงจตุตถฌานอันเป็นอาเนญชะในขั้นริเริ่ม ซึ่งยังไม่สมบูรณ์เพราะยังอาศัยสิ่งซึ่งมีรูปหรือรูปสัญญาอยู่. เพราะข้อปฏิบัติดังกล่าวแล้วข้างต้น ทำให้ง่ายและสะดวกแก่การลุถึงภพประเภทนี้ จึงได้ชื่อว่า อาเนญชสัปปายปฏิปทา. ข้อปฏิบัติเหล่านี้เป็นฝ่ายสมถะ ซึ่งเป็นปัจจัยแก่เจโตวิมุตติโดยตรง แต่ก็เป็นปัจจัยแก่วิปัสสนาได้ด้วย ดังนั้นท่านจึงกล่าวอานิสงส์ของคำนี้ว่า เพื่อเข้าถึงอาเนญชะหรือน้อมไปเพื่อปัญญาก็ได้.--อาเนญช (สมาบัติ) ในกาลนั้นหรือน้อมไปเพื่อปัญญา. ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย ฐานะที่พึงมีได้ก็คือ วิญญาณที่เป็นไป ก็จะเป็น วิญญาณที่เข้าถึงซึ่งภพในระดับอาเนญชะ.--ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า เป็น อาเนญชสัปปายปฏิปทาข้อที่หนึ่ง.--ข้อที่สอง--ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นโทษโดยประจักษ์ ดังนี้ว่า “กามและกามสัญญาอันเป็นไปในทิฏฐธรรมและเป็นไปในสัมปรายะ อันเป็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงสักว่ารูป คือเป็นเพียงมหาภูตรูปสี่ และรูปอาศัยมหาภูตรูปสี่นั้นอยู่ เท่านั้น” ดังนี้.--เมื่ออริยสาวกนั้น ปฏิบัติแล้วอย่างนี้ เป็นผู้มากด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ อยู่, จิตย่อมเลื่อมใสในอายตนะ. เมื่อมีจิตเลื่อมใสสมบูรณ์ เขาก็จะเข้าถึงอาเนญช (สมาบัติ) ในกาลนั้น หรือน้อมไปเพื่อปัญญา ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย ฐานะที่พึงมีได้ก็คือ วิญญาณที่เป็นไป ก็จะเป็นวิญญาณที่เข้าถึง ซึ่งภพในระดับอาเนญชะ.--ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า เป็น อาเนญชสัปปายปฏิปทาข้อที่สอง.--ข้อที่สาม--ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : อริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นโดยประจักษ์ ดังนี้ว่า “กามและกามสัญญา อันเป็นไปในทิฏฐธรรมและเป็นไปในสัมปรายะก็ดี รูปและรูปสัญญา อันเป็นไปในทิฎฐธรรมและเป็นไปในสัมปรายะ ก็ดี ทั้ง--สองอย่างนั้น เป็นอนิจจัง สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นไม่ควรเพื่อจะเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา” ดังนี้.--เมื่ออริยสาวกนั้น ปฏิบัติแล้วอย่างนี้ เป็นผู้มากด้วยการปฏิบัติอย่างนี้อยู่, จิตย่อมเลื่อมใสในอายตนะ. เมื่อมีจิตเลื่อมใสสมบูรณ์ เขาก็จะเข้าถึงอาเนญช (สมาบัติ) ในกาลนั้น หรือน้อมไปเพื่อปัญญา. ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย ฐานะที่พึงมีได้ก็คือ วิญญาณที่เป็นไป ก็จะเป็นวิญญาณที่เข้าถึงซึ่งภพในระดับอาเนญชะ.--ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่าเป็น อาเนญชสัปปายปฏิปทาข้อที่สาม.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม. 14/74-75/82-84.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม. ๑๔/๗๕-๗๕/๘๒-๘๔.
ลำดับสาธยายธรรม : 56
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site