สัทธรรมลำดับที่ : 736
ชื่อบทธรรม : -อัสสาทะ-อาทีนวะ-นิสสรณะของกาม
เนื้อความทั้งหมด :-อัสสาทะ-อาทีนวะ-นิสสรณะของกาม--(ธรรมลักษณะ ๓ ประการของกาม : วัตถุแห่งสัมมาทิฏฐิ)--ภิกษุ ท. ! อะไร เป็นอัสสาทะ (รสอร่อย) ของกามทั้งหลาย ? ภิกษุ ท. ! กามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. ห้าอย่าง อย่างไรเล่า? ห้าอย่าง--คือ รูป อันจะพึงรู้แจ้งด้วยตา เสียงอันจะพึงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่นอันจะพึงรู้แจ้งด้วยจมูก รสอันจะพึงรู้แจ้งด้วยลิ้น โผฏฐัพพะอันจะพึงรู้แจ้งด้วยผิวกาย (แต่ละอย่าง ๆ) อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด มีอยู่ ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แลชื่อว่า กามคุณ (คุณค่าสำหรับกาม) ห้าอย่าง. ภิกษุ ท. ! สุขโสมนัสใด อาศัยกามคุณห้าเหล่านี้แล้วเกิดขึ้น , นี้เป็นอัสสาทะของกามทั้งหลาย.--ภิกษุ ท. ! อะไร เป็นอาทีนวะ (โทษอันต่ำทราม) ของกามทั้งหลาย ?--(ก) ภิกษุ ท. ! กุลบุตรในโลกนี้ สำเร็จการเป็นอยู่ด้วยความพากเพียรในศิลปะ คือ ด้วยศิลปะแห่งการใช้สัญญาด้วยมือ ศิลปแห่งการคำนวณ ศิลปะแห่งการนับ ด้วยกสิกรรม ด้วยวาณิชกรรม ด้วยโครักขกรรม ด้วยศิลปะแห่งการใช้ศาตรา ด้วยการเป็นราชบุรุษ หรือด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง, ต้องเผชิญกับความหนาว เผชิญกับความร้อน ต้องลำบากอยู่ ด้วยสัมผัสอันเกิดจากเหลือบยุงลมแดดและสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย อ่อนแรงอยู่ ด้วยความหิว กระหายเพราะการไม่ได้บริโภคตามเวลา. ภิกษุ ท. ! ข้อนี้เป็นโทษแห่งกาม เป็นกองแห่งทุกข์ อันบุคคลเห็นได้เอง ว่ามีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับ ให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเทียว.--(ข) ภิกษุ ท. ! แม้เมื่อกุลบุตรนั้นพากเพียรอยู่อย่างนั้น สืบต่อ พยายามอยู่อย่างนั้น โภคะก็ยังไม่สำเร็จแก่เขา ; เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ร่ำไรรำพัน ตีอกร่ำไห้ ถึงความคลั่งเพ้อว่า “ความพากเพียรของเราเป็นโมฆะเสียแล้วหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ” ดังนี้เป็นต้น. ภิกษุ ท. ! แม้ข้อนี้ ก็เป็นโทษของกาม เป็นกองแห่งทุกข์ อันบุคคลเห็นได้เอง--ว่ามีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเทียว.--(ค) ภิกษุ ท. ! ถึงแม้ว่าเมื่อกุลบุตรนั้น พากเพียรอยู่อย่างนั้นสืบ ต่อพยายามอยู่อย่างนั้น โภคะเกิดสำเร็จผลแก่เขาขึ้นมา. เขาก็ยังเสวยทุกขโทมนัสเพราะการอารักขาโภคะเหล่านั้น โดยวิตกอยู่ว่า “ทำอย่างไรพระราชาจึงจะไม่ริบทรัพย์ของเราไป โจรจะไม่ปล้นทรัพย์ของเราไป ไฟจะไม่ไหม้ น้ำจะไม่พัดพาเอาไป ทายาทอันไม่เป็นที่รักจะไม่เยื้อแย่งเอาไป” ดังนี้เป็นต้น. เมื่อเขาอารักขาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาริบทรัพย์ของเขาไปบ้าง โจรปล้นเอาไปบ้าง ไฟไหม้เสียบ้าง น้ำพัดพาไปเสียบ้าง ทายาทไม่เป็นที่รักเยื้อแย่งไปเสียบ้าง, เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมลำบากใจ ร่ำไรรำพัน ตีอกร่ำไห้ ถึงความคลั่งเพ้อว่า “สิ่งที่เคยมีแก่เรา ฉิบหายไปหมดแล้วหนอ” ดังนี้เป็นต้น. ภิกษุ ท. ! แม้ข้อนี้ ก็เป็นโทษแห่งกาม เป็นกองแห่งทุกข์ อันบุคคลเห็นได้เอง ว่ามีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเทียว.--(ง) ภิกษุ ท. ! โทษอื่นยังมีอีก ที่มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเอง; คือ ข้อที่ราชาวิวาทกับราชาบ้าง กษัตริย์วิวาทกับกษัตริย์บ้าง พราหมณ์วิวาทกับพราหมณ์บ้าง คหบดีวิวาทกับคหบดีบ้าง มารดาวิวาทแม้กับบุตร บุตรวิวาทแม้กับมารดา บิดาวิวาทแม้กับบุตร บุตรวิวาทแม้กับบิดา พี่น้องชายกับพี่น้องชาย พี่น้องหญิงกับพี่น้องหญิง แม้สหายกับสหายก็ยังวิวาทกัน, เขาเหล่านั้น ถึงการทะเลาะแก่งแย่งวิวาทกัน ในที่นั้นๆ, ทำร้ายกันและกันด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศาตราบ้าง ถึงความตายบ้าง ได้รับทุกข์เจียนตายบ้าง--ในที่นั้น ๆ ภิกษุ ท. ! แม้ข้อนี้ ก็เป็นโทษของกาม เป็นกองแห่งทุกข์ อันบุคคลเห็นได้เอง ว่ามีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเทียว.--(จ) ภิกษุ ท. ! โทษอื่นยังมีอีก ที่มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเอง ; คือ ข้อคนที่คนทั้งหลายถือดาบและโล่หนัง ผูกสอดธนูและแล่งศร แล่นเข้าไปสู่สงครามอันตั้งขึ้นเป็นกองทัพสองฝ่าย ยิงศรอยู่บ้าง ซัดหอกอยู่บ้าง กวัดแกว่งดาบอยู่บ้าง, คนเหล่านั้น ถูกศรแทงบ้าง ถูกหอกแทงบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะบ้าง ถึงความตายบ้าง ได้รับทุกข์เจียนตายบ้าง อยู่ในที่นั้นๆ. ภิกษุ ท. ! แม้ข้อนี้ ก็เป็นโทษของกาม เป็นกองแห่งทุกข์ อันบุคคลเห็นได้เอง ว่ามีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเทียว.--(ฉ) ภิกษุ ท. ! โทษอื่นยังมีอีก ที่มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเอง ; คือ ข้อที่คนทั้งหลายถือดาบและโล่หนัง ผูกสอดธนูและแล่งศร แล่นเข้าประชิดเชิงเทินอันกระทำขึ้นด้วยวิธีที่เรียกว่าอัฏฏาวเลปนา๑ เมื่อมีการยิงลูกศรอยู่บ้าง ซัดหอกอยู่บ้าง กวัดแกว่งดาบอยู่บ้าง คนเหล่านั้นก็ถูกลูกศรแทงบ้าง ถูกหอกแทงบ้าง ถูกรดอยู่ด้วยเถ้าถ่านโคมัยอันร้อนบ้าง ปล่อยของหนักให้ตกลงทับทีเดียวตายทั้งหมู่บ้าง ถูกตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ถึงความตายบ้าง ได้รับทุกข์เจียนตายบ้าง อยู่ในที่นั้นๆ. ภิกษุ ท. ! แม้ข้อนี้ ก็เป็นโทษของกาม เป็นกองแห่งทุกข์อันบุคคลเห็นได้เอง ว่ามีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเทียว.--๑. ตีนกำแพงที่ทำให้ขรุขระไว้ด้วยของมีคม ยากแก่การที่ข้าศึกจะเข้าไป หรือปีนกำแพงได้.--(ช) ภิกษุ ท. ! โทษอื่นยังมีอีก ที่มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเอง; คือ ข้อที่คนบางพวก ย่อมตัดช่อง ย่องเบา ปล้นสะดมในเรือนหลังเดียว คอยดักทำร้ายในที่เปลี่ยว และล่วงภรรยาผู้อื่น. พระราชาจับคนเหล่านั้นมาแล้ว ให้กระทำกรรมกรณ์วิธีการลงโทษหลายวิธีด้วยกัน เช่น เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง หวดด้วยเชือกหนังบ้าง ทุบด้วยท่อนไม้บ้าง ตัดมือเสียบ้าง ตัดเท้าเสียบ้าง ตัดเสียทั้งมือและเท้าบ้าง ตัดหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดเสียทั้งหูและจมูกบ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “หม้อเคี่ยวน้ำส้ม”๑ บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “ขอดสังข์”๒ บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “ปากราหู”๓ บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “มาลัยไฟ”๔ บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “มือคบเพลิงบ้าง”๕ บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “ริ้วส่าย”๖ บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “นุ่งเปลือกไม้”๗ บ้าง ย่อมกระทำ--๑. “หม้อเคี่ยวน้ำส้ม” คือต่อยหัวขมองแยกออก แล้วใช้คีมคีบก้อนเหล็กที่ลุกแดงใส่ลงไป ให้มันสมองเดือดพลุ่งขึ้นเหมือนน้ำส้มเดือดล้นหม้อ.--๒. “ขอดสังข์” คือตัดหนังควั่นไปให้รอบจอนหูทั้งสองข้าง และหลุมคอ แล้วรวบผมทั้งหมดขมวดไว้ ใช้ไม้สอดหมุนยกขึ้น ให้หนังหลุดติดขึ้นมาพร้อมกับผมแล้วใช้ทรายหยาบขัดกะโหลกศีรษะล้างให้ขาว ดั่งสังข์.--๓. “ปากราหู” คือใช้ขอเหล็กง้างปากให้อ้าแล้วจุดไฟในปาก. อีกอย่างหนึ่ง ใช้สิ่วตอกเจาะตั้งแต่จอนหูเข้าไปจนถึงปาก ให้โลหิตไหลออกมาเต็มปาก ดูปากอ้า ดั่งปากราหู.--๔. “มาลัยไฟ” คือใช้ผาชุบน้ำมันพันจนทั่วตัวแล้วจุดไฟ.--๕. “มือคบเพลิง” คือใช้ผ้าชุบน้ำมันพันมือทั้งสองข้างจนทั่ว แล้วจุดไฟ.--๖. “ริ้วส่าย” คือเชือดหนังลอกออกเป็นริ้วๆ ตั้งแต่ใต้คอไปจนถึงข้อเท้า แล้วเอาเชือกผูกฉุดคร่าไป นักโทษเดินเหยียบหนังคัวล้มลุกคลุกคลานไปจนกว่าจะตาย.--๗. “นุ่งเปลือกไม้” คือเชือดหนังเป็นริ้วๆอย่างบทก่อน แต่ทำเป็นสองตอน ตั้งแต่ใต้คอจนถึงเอวตอนหนึ่ง ตั้งแต่เอวจนถึงข้อเท้าตอนหนึ่ง ริ้วหนังตอนบนห้อยคลุมลงมาปิดกายตอนล่าง ดูดั่งนุ่งเปลือกไม้.--กรรมกรณ์ชื่อ “ยืนกวาง”๘ บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “เกี่ยวเหยื่อเบ็ด”๙ บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “เหรียญกษาปณ์”๑๐ บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “ทาเกลือ” บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “แปรงแสบ”๑๑ บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “เวียนหลัก”๑๒ บ้าง ย่อมกระทำกรรมกรณ์ชื่อ “ตั่งฟาง”๑๓ บ้าง ย่อมราดด้วยน้ำมันร้อน ๆ บ้าง ย่อมปล่อยให้ “สุนัขทึ้ง”๑๔ บ้าง ย่อมให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็น ๆ บ้าง ย่อมตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ; เขาเหล่านั้น ย่อมถึงซึ่งความตายบ้าง ได้รับทุกข์เจียนตายบ้าง อยู่ในที่นั้น ๆ. ภิกษุ ท. ! แม้ข้อนี้ ก็เป็นโทษของกาม เป็นกองแห่งทุกข์ อันบุคคลเห็นได้เอง ว่ามีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเทียว.--๘. “ยืนกวาง” คือใช้ห่วงเหล็กรัดข้อศอกทั้งสอง และเข่าทั้งสอง ตรึงติดไว้กับหลักเหล็กสี่หลักบนพื้นดิน ดูดั่ง กวางถูกตรึง แล้วก่อไฟล้อมลนจนกว่าจะตาย.--๙. “เกี่ยวเหยื่อเบ็ด” คือใช้เบ็ดมีเงี่ยงสองข้าง เกี่ยวตัวดึงเอาหนังเนื้อและเอ็นออกมาให้หมด.--๑๐. “เหรียญกษาปณ์” คือใช้มีดคมเชือดหนังออกเป็นแว่นๆ ขนาดเท่าเงินเหรียญจนกว่าจะตาย.--๑๑. “แปรงแสบ” คือฟันสับเสียให้ยับทั่วกาย แล้วใช้แปรงชุบน้ำแสบ (มีน้ำเกลือเป็นต้น) ถูครูดสีไปมาให้เนื้อเอ็นขาดหลุดออกมา เหลือแต่กระดูก.--๑๒. “เวียนหลัก” คือให้นอนตะแคง แล้วใช้หลาวเหล็กตอกเข้าช่องหูให้ทะลุ ลงไปตรึงแน่นอยู่กับดิน แล้วจับเท้าทั้งสองเดินเวียน.--๑๓. “ตั่งฟาง” คือใช้ลูกหินบดทับตัว บดให้กระดูกแตกละเอียด แต่ไม่ให้หนังขาด แล้วจับผมรวบขึ้นเขย่าๆ ให้เนื้อรวมเข้าเป็นกอง แล้วใช้ผมนั่นแหละพันตะล่อมวางไว้ เหมือนตั่งที่ทำด้วยฟางสำหรับเช็ดเท้า.--๑๔. “ให้สุนัขทึ้ง” คือขังฝูงสุนัขให้อดหิวโซหลายวัน แล้วปล่อยให้ออกมารุมทึ้ง พักเดียวเหลือแต่กระดูก. - นัยแห่งอรรถกถาแลพระไตรปิฎกแปลของ ม . อำไพจริต.--(ญ) ภิกษุ ท. ! โทษอื่นยังมีอีก ที่มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเอง ; คือข้อที่คนทั้งหลายประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ, ครั้นประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจแล้ว, เขาเหล่านั้น ย่อม เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เบื้องหน้าแต่การตาย เพราะการแตกสลายแห่งกาย. ภิกษุ ท. ! แม้ข้อนี้ ก็เป็นโทษของกาม เป็นกองแห่งทุกข์ อันบุคคลเห็นได้เอง ว่ามีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นเครื่องบังคับให้กระทำ มีเหตุมาแต่กามนั่นเทียว.--ภิกษุ ท. ! อะไร เป็นนิสสรณะ (อุบายเป็นเครื่องออก) จากกามทั้งหลาย ? ภิกษุ ท. ! การนำออกเสียได้ซึ่งฉันทราคะ การละเสียได้ซึ่งฉันทราคะ ในกามทั้งหลาย อันใด, อันนั้น เป็นนิสสรณะจากกามทั้งหลาย.--ภิกษุ ท. ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ไม่รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่ง อัสสาทะแห่งกามทั้งหลายโดยความเป็นอัสสาทะด้วย ซึ่งอาทีนวะโดยความเป็นอาทีนวะด้วย ซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะด้วย โดยอาการเหล่านี้ อยู่; สมณะพราหมณ์เหล่านั้นน่ะหรือ จักรู้รอบซึ่งกามทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักชวนผู้อื่นให้รอบรู้ซึ่งกามเหมือนผู้ที่เคยปฏิบัติแล้ว ดังนี้นั้น : นั่นไม่เป็นฐานะที่มีได้.--ภิกษุ ท. ! ส่วน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่ง อัสสาทะแห่งกามทั้งหลายโดยความเป็นอัสสาทะด้วย ซึ่งอาทีนวะโดยความเป็นอาทีนวะด้วย ซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะด้วย โดยอาการอย่างนี้อยู่ ; สมณะหรือ--พราหมณ์เหล่านั้นนั่นแหละ จักรอบรู้ซึ่งกามทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักชวนผู้อื่นให้รอบรู้ซึ่งกามเหมือนผู้ที่เคยปฏิบัติแล้ว ดังนี้นั้น : นั่นเป็นฐานะที่มีได้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มู.ม. 12/168-173/197-200.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มู.ม. ๑๒/๑๖๘-๑๗๓/๑๙๗-๒๐๐.
ลำดับสาธยายธรรม : 55
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 737
ชื่อบทธรรม : -อัสสาทะ-อาทีนวะ-นิสสรณะของรูปกาย--(ธรรมลักษณะ ๓ ประการของรูป : วัตถุแห่งสัมมาทิฏฐิ)
เนื้อความทั้งหมด :-(ความรู้ดังกล่าวนี้สงเคราะห์ลงในสัมมาทิฏฐิ ดังนั้นจึงนำมารวมไว้ในที่นี้).--อัสสาทะ-อาทีนวะ-นิสสรณะของรูปกาย--(ธรรมลักษณะ ๓ ประการของรูป : วัตถุแห่งสัมมาทิฏฐิ)--ภิกษุ ท. ! อะไร เป็นอัสสาทะ (รสอร่อย) ของรูป ? ภิกษุ ท. ! เหมือนอย่างว่านางสาวน้อยแห่งกษัตริย์ก็ดี นางสาวน้อยแห่งพราหมณ์ก็ดี หรือนางสาวน้อยแห่งคหบดีก็ดี ที่แสดงลักษณะว่ามีอายุสิบห้าปีก็ดี หรือสิบหกปีก็ดี ซึ่งมีทรวดทรงไม่สูงนัก ไม่ต่ำนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก ภิกษุ ท. ! ในสมัยนั้น สีสรรวรรณะแห่งหญิงนั้น ย่อมงดงามอย่างยิ่ง มิใช่หรือ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” ภิกษุ ท. ! สุขโสมนัสที่อาศัยสีสรรวรรณะอัน งดงามแล้วบังเกิดขึ้น อันใด, อันนั้น เป็นอัสสาทะของรูป.--ภิกษุ ท. ! อะไร เป็น อาทีนวะ (โทษอันต่ำทราม) ของรูป ?--(ก) ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ บุคคคล จะได้เห็นน้องสาว (ของตนเอง) นั่นแหละ โดยกาลต่อมา มีอายุได้ ๘๐ ปีบ้าง ๙๐ ปีบ้าง ๑๐๐ ปีบ้าง ชราทรุดโทรมแล้ว มีหลังงอเหมือนโคปานสิแห่งหลังคา๑ มีกายคดไปคดมา มีไม้เท้ายันไป--๑. คำนี้เคยแปลกันว่า กลอนหรือจันทัน แต่ไม่สมเหตุสมผลคือไม่ได้โค้ง. รูปเรือนโบราณที่ปรากฏอยู่ในสิลาสลักของโบราณ เห็นโค้งอยู่แต่ส่วนที่เรียกว่าปั้นลม โค้งงอเป็นรูปดอกบัว พอที่จะเปรียบกับหลังโกงได้. หรือมิฉะนั้น ก็ต้องเป็นเรือนที่มีหลังคาเป็นรูปประทุนเรือจันทันหรือกลอนจึงจะโค้งงอได้, ทำให้ไม่แน่ใจว่าแปลคำนี้ว่าอะไรดี จึงไม่แปลและคงไว้ตามเดิมว่า โคปานสิ.--ในเบื้องหน้า เดินตัวสั่นเทิ้ม กระสับกระส่าย ผ่านวัยอันแข็งแกร่งไปแล้ว มีฟันหักแล้ว มีผมหงอกแล้ว มีผมตัดสั้นอย่างลวกๆ มีผิวหนังหย่อนยานและมีตัวเต็มไปด้วยจุด. ภิกษุ ท. ! พวกเธอเข้าใจความข้อนี้ว่าอย่างไร : สีสรรวรรณะอันงดงามที่มีมาแต่เดิม อันตรธานไปแล้ว, โทษปรากฏชัดแล้วมิใช่หรือ ? “อย่างนั้นพระเจ้าข้า !” ภิกษุ ท. ! นั่นคือ อาทีนวะของรูป.--(ข) ภิกษุ ท. ! โทษอย่างอื่นยังมีอีก : บุคคล จะได้เห็นน้องสาว (ของตนเอง) นั่นแหละ อาพาธลง ได้รับทุกข์ทรมาณ เป็นไข้หนัก นอนกลิ้งเกลือกอยู่ในมูตรและคูถของตนเอง อันบุคคลต้องช่วยพยุงให้ลุกและนอน. ภิกษุ ท. ! พวกเธอเข้าใจข้อความนี้ว่าอย่างไร : สีสรรวรรณะอันงดงามที่มีแต่เดิม อันตรธานไปแล้ว, โทษปรากฏชัดแล้ว มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” ภิกษุ ท. ! แม้นั่น ก็คืออาทีนวะของรูป.--(ค) ภิกษุ ท. ! โทษอย่างอื่นยังมีอีก : บุคคล จะได้เห็นน้องสาว (ของตนเอง) นั่นแหละ บัดนี้เป็นสรีระร่างอันเขาทิ้งแล้ว ในป่าช้าเป็นที่ทิ้งศพ ตายแล้ววันหนึ่ง บ้าง ตายแล้วสองวัน บ้าง ตายแล้วสามวัน บ้าง กำลังขึ้นพอง บ้าง มีสีเขียว บ้าง มีหนองไหล บ้าง. ภิกษุ ท. ! พวกเธอจะข้าใจความหมายนี้อย่างไร : สีสันวรรณะอันงดงามที่มีแต่เดิม อันตรธานไปแล้ว, โทษปรากฏชัดแล้ว มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” ภิกษุ ท. ! แม้นั่น ก็คืออาทีนวะ ของรูป.--(ง) ภิกษุ ท. ! โทษอย่างอื่นยังมีอีก : บุคคล จะได้เห็นน้องสาว (ของตนเอง) นั่นแหละ บัดนี้เป็นสรีระร่างอันเขาทิ้งแล้ว ในป่าช้าเป็นที่ทิ้งศพ--อัน ฝูงกาจิกกินอยู่ บ้าง อัน ฝูงแร้งจิกกินอยู่ บ้าง อัน ฝูงตะกรุมจิกกินอยู่ บ้าง อัน ฝูงสุนัขกัดกินอยู่ บ้าง อัน ฝูงสุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่ บ้าง และอัน หมู่หนอนต่างชนิดบ่อนกินอยู่ บ้าง. ภิกษุ ท. ! พวกเธอจะเข้าใจความข้อนี้ว่าอย่างไร : สีสรรวรรณะอันงดงามที่มีแต่เดิม อันตรธานไปแล้ว, โทษปรากฏชัดแล้ว มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” ภิกษุ ท. ! แม้นั่น ก็คืออาทีนวะของรูป.--(จ) ภิกษุ ท. ! โทษอย่างอื่นยังมีอีก : บุคคล จะได้เห็นน้องสาว (ของตนเอง) นั่นแหละ บัดนี้เป็นสรีระร่างอันเขาทิ้งแล้ว ในป่าช้าเป็นที่ทิ้งศพ เป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อและเลือด และยังมีเอ็นเป็นเครื่องรึงรัดอยู่ บ้าง เป็นร่างกระดูกที่ ปราศจากเนื้อ แต่ยังมีเลือดเปื้อนอยู่ และยังมีเอ็นเป็นเครื่องรึงรัดไว้บ้าง เป็นร่างกระดูกที่ปราศจากเนื้อและเลือด แต่ยังมีอ็นเป็นเครื่องรึงรัดไว้บ้าง เป็นท่อนกระดูกที่ปราศจากเอ็นเป็นเครื่องรึงรัด กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง คือกระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกข้อสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคางไปทางหนึ่ง ฟันไปทางหนึ่ง กระโหลกศีรษะไปทางหนึ่งบ้าง. ภิกษุ ท. ! พวกเธอจะเข้าใจความข้อนี้ว่าอย่างไร : สีสรรวรรณะอันงดงามที่มีแต่เดิม อันตรธานไปแล้ว, โทษปรากฏชัดแล้ว มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” ภิกษุ ท. ! แม้นั่น ก็คืออาทีนวะของรูป.--(ฉ) ภิกษุ ท. ! โทษอย่างอื่นยังมีอีก : บุคคล จะได้เห็นน้องสาว (ของตนเอง) นั่นแหละ บัดนี้เป็นสรีระร่างอันเขาทิ้งแล้ว ในป่าช้าเป็นที่ทิ้งศพ--เป็นชิ้นกระดูก มีสีขาวดังสีสังข์ บ้าง เป็นชิ้นกระดูก กองเรี่ยรายอยู่นานเกินกว่าปีหนึ่งไปแล้ว บ้าง เป็นกระดูก เปื่อยผงละเอียดไปแล้ว บ้าง ภิกษุ ท. ! พวกเธอจะเข้าใจความข้อนี้ว่าอย่างไร : สีสรรวรรณะอันงดงามที่มีแต่เดิม อันตรธานไปแล้ว, โทษปรากฏชัดแล้ว มิใช่หรือ ? “อย่างนั้น พระเจ้าข้า !” ภิกษุ ท. ! แม้นั่น ก็คืออาทีนวะของรูป.--ภิกษุ ท. ! อะไร เป็นนิสสรณะ (อุบายเครื่องออก) จากรูป ? ภิกษุ ท. ! การนำออกเสียได้ซึ่งฉันทราคะ การละเสียได้ซึ่งฉันทราคะในรูปอันใด, อันนั้น เป็นนิสสรณะของรูป.--ภิกษุ ท. ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ไม่รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่ง อัสสาทะแห่งรูปโดยความเป็นอัสสาทะด้วย ซึ่งอาทีนวะโดยความเป็นอาทีนวะด้วย ซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะด้วย โดยอาการอย่างนี้ อยู่; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นน่ะหรือ จักรอบรู้ซึ่งรูปด้วยตนเอง หรือว่าจักชวนผู้อื่นให้รอบรู้ซึ่งรูปเหมือนผู้ที่เคยปฏิบัติแล้ว ดังนี้นั้น : นั่นไม่เป็นฐานะที่มีได้.--ภิกษุ ท. ! ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด รู้ชัดตามความเป็น จริง ซึ่งอัสสาทะแห่งรูปโดยความเป็นอัสสาทะด้วย ซึ่งอาทีนวะโดยความเป็นอาทีนวะด้วย ซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะด้วย โดยอาการอย่างนี้ อยู่ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น จักรอบรู้ซึ่งรูปด้วยตนเอง หรือว่าจักชวนผู้อื่นให้รอบรู้ซึ่งรูปเหมือนผู้ที่เคยปฏิบัติแล้ว ดังนี้นั้น : นั่นเป็นฐานะที่มีได้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มู. ม. 12/173-175/201-204.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มู. ม. ๑๒/๑๗๓-๑๗๕/๒๐๑-๒๐๔.
ลำดับสาธยายธรรม : 55
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 738
ชื่อบทธรรม : -อัสสาทะ-อาทีนวะ-นิสสรณะของเวทนา--(ธรรมลักษณะ ๓ ประการของเวทนา : วัตถุแห่งสัมมาทิฏฐิ)
เนื้อความทั้งหมด :-(ความรู้ดังกล่าวนี้สงเคราะห์ลงในสัมมาทิฏฐิ ดังนั้นจึงนำมารวมไว้ในที่นี้).--อัสสาทะ-อาทีนวะ-นิสสรณะของเวทนา--(ธรรมลักษณะ ๓ ประการของเวทนา : วัตถุแห่งสัมมาทิฏฐิ)--ภิกษุ ท. ! อะไร เป็นอัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนาทั้งหลาย ?--(ก) ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมบรรลุ ฌานที่หนึ่ง ซึ่งมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! ในสมัยใด ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมบรรลุฌานที่หนึ่ง .... นั้นแล้วแลอยู่. ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง, ย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น, และย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย. ในสมัยนั้น (ในขณะนั้น) เธอย่อมเสวย เวทนา อันไม่ทำความเดือดร้อนแต่อย่างใดเลย. ภิกษุ ท. ! เรากล่าว อัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนาทั้งหลาย ว่า มีการไม่ทำความเดือดร้อนแก่ผู้ใดเป็นอย่างยิ่ง.--(ข) ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ ย่อมบรรลุ ฌานที่สอง อันเป็นเครื่องผ่องใสในภายใน นำให้เกิดสมาธิมีอารมณ์อันเดียวแห่งใจ ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! ในสมัยใด ภิกษุ เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ ย่อมบรรลุ ฌานที่สอง .... นั้นแล้วแลอยู่. ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง, ย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น, และย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย. ในสมัยนั้น เธอย่อม เสวยเวทนา อันไม่ทำความเดือดร้อนแต่อย่างใดเลย.--ภิกษุ ท. ! เรากล่าว อัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนาทั้งหลาย ว่า มีการไม่ทำความเดือดร้อนแก่ผู้ใดเป็นอย่างยิ่ง.--(ค) ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมบรรลุ ฌานที่สาม อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า “ผู้ได้บรรลุฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! ในสมัยใด ภิกษุ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย ย่อมบรรลุฌานที่สาม .... นั้นแล้วแลอยู่. ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง, ย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น, และย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย. ในสมัยนั้น เธอย่อมเสวย เวทนา อันไม่ทำความเดือดร้อนแต่อย่างใดเลย. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวอัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนาทั้งหลาย ว่า มีการไม่ทำความเดือดร้อนแก่ผู้ใดเป็นอย่างยิ่ง.--(ง) ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน ย่อมบรรลุ ฌานที่สี่ อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! ในสมัยใด ภิกษุ เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน ย่อมบรรลุฌานที่สี่ …. นั้นแล้วแลอยู่. ในสมัยนั้น เธอย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเอง, ย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น, และย่อมไม่คิดแม้ในทางที่จะให้เกิดความเดือดร้อนแก่--ตนเองและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย. ในสมัยนั้น เธอย่อมเสวย เวทนา อันไม่ทำความเดือดร้อนแต่อย่างใดเลย. ภิกษุ ท. ! เรากล่าว อัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนาทั้งหลายว่า มีการไม่ทำความเดือดร้อนแก่ผู้ใดเป็นอย่างยิ่ง.--ภิกษุ ท. ! อะไร เป็นอาทีนวะ (โทษอันต่ำทราม) ของเวทนา ทั้งหลาย ? ภิกษุ ท. ! เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็น ธรรมดาอันใด, อันนั้น เป็นอาทีนวะของเวทนาทั้งหลาย.--ภิกษุ ท. ! อะไร เป็นนิสสรณะ (อุบายเครื่องออก) จากเวทนาทั้งหลาย ? ภิกษุ ท. ! การนำออกเสียได้ซึ่งฉันทราคะ การละเสียได้ซึ่งฉันทราคะ ในเวทนาทั้งหลาย อันใด, อันนั้น เป็นนิสสรณะจากเวทนาทั้งหลาย.--ภิกษุ ท. ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ไม่รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่ง อัสสาทะแห่งเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นอัสสาทะด้วย ซึ่งอาทีนวะโดยความเป็นอาทีนวะด้วย ซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะด้วย โดยอาการอย่างนี้ อยู่; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นน่ะหรือ จักรอบรู้ซึ่งเวทนาทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชวนผู้อื่นให้รอบรู้ซึ่งเวทนาทั้งหลายเหมือนผู้ที่เคยปฏิบัติแล้ว ดังนี้นั้น : นั่นไม่เป็นฐานะที่มีได้.--ภิกษุ ท. ! ส่วน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด รู้ชัดตามเป็นจริง ซึ่งอัสสาทะแห่งเวทนาทั้งหลายโดยความเป็นอัสสาทะด้วย ซึ่งอาทีนวะโดยความเป็นอาทีนวะด้วย ซึ่งนิสสรณะโดยความเป็นนิสสรณะด้วย โดยอาการอย่างนี้ อยู่; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นนั่นแหละ จักรอบรู้ซึ่งเวทนาทั้งหลายด้วยตนเอง หรือว่าจักชักชวนผู้อื่นให้รอบรู้ซึ่งเวทนาทั้งหลายเหมือนผู้ที่เคยปฏิบัติแล้ว ดังนี้นั้น : นั่นเป็นฐานะที่มีได้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มู. ม. 12/176-177/205-208.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มู. ม. ๑๒/๑๗๖-๑๗๗/๒๐๕-๒๐๘.
ลำดับสาธยายธรรม : 55
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site