สัทธรรมลำดับที่ : 562
ชื่อบทธรรม : -ผู้รอดไปได้ไม่ตายกลางทาง
เนื้อความทั้งหมด :-ผู้รอดไปได้ไม่ตายกลางทาง--สุนักขัตตะ ! ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ คือจะมีภิกษุบางรูปในกรณีนี้มีความเข้าใจของตนว่า “ตัณหานั้น สมณะกล่าวกันว่าเป็นลูกศร, โทษอันมีพิษของอวิชชา ย่อมงอกงามเพราะฉันทราคะและพยาบาท ; ลูกศรคือตัณหานั้นเราละได้แล้ว, โทษอันมีพิษของอวิชชา เราก็นำออกไปหมดแล้ว, เราเป็นผู้น้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ.” ดังนี้. เมื่อเธอน้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ อยู่, เธอก็ไม่ตามประกอบซึ่งธรรมทั้งหลายอันไม่เป็นที่สบายแก่ผู้น้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ ; คือไม่ตามประกอบซึ่งธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ในการเห็นรูปด้วยตาฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจ อันล้วนไม่เป็นที่สบาย. เมื่อเธอไม่ตามประกอบซึ่งธรรมอันไม่เป็นที่สบายเหล่านี้อยู่, ราคะย่อมไม่เสียบแทงจิตของเธอ. เธอมีจิตอันราคะไม่เสียบแทงแล้ว ย่อมไม่ถึงความตายหรือความทุกข์เจียนตาย.--สุนกขัตตะ ! เปรียบเหมือนบุรุษถูกยิงด้วยลูกศรอันอาบไว้ด้วยยาพิษอย่างแรงกล้า. มิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิตของเขาจัดหาหมอผ่าตัดมารักษา. หมอ--ได้ใช้ศาสตราชำแหละปากแผลของเขา แล้วใช้เครื่องตรวจค้นหาลูกศร พบแล้วถอนลูกศรออก นำออกซึ่งโทษอันเป็นพิษจนรู้ว่าไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่. หมอนั้นกล่าวแก่เขาอย่างนี้ว่า “บุรุษผู้เจริญ ! ลูกศรถูกถอนออกแล้ว, โทษอันเป็นพิษ เรานำออกจนไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่แล้ว, ท่านหมดอันตรายแล้ว และท่านจะบริโภคอาหารได้ตามสบาย ; แต่ท่านอย่าไปกินอาหารชนิดที่ไม่สบายแก่แผลอันจะทำให้แผลอักเสบ และจงล้างแผลตามเวลา ทายาที่ปากแผลตามเวลา. เมื่อท่านล้างแผลตามเวลา ทายาที่ปากแผลตามเวลา อย่าให้หนองและเลือดเกรอะกรังปากแผล, และท่านอย่าเที่ยวตากลมและแดด, เมื่อเที่ยวตากลมและแดด ก็อย่าให้ฝุ่นละอองของโสโครกเข้าไปในปากแผล. บุรุษผู้เจริญ! ท่านจงเป็นผู้ระวังรักษาแผล มีเรื่องแผลเป็นเรื่องสำคัญเถอะนะ” ดังนี้. บุรุษนั้น มีความคิดว่า “หมอถอนลูกศรให้เราเสร็จแล้ว โทษอันเป็นพิษหมอก็นำออกจนไม่มีเชื้อเหลืออยู่แล้ว เราหมดอันตราย” เขาบริโภคโภชนะอันเป็นที่สบาย (และประพฤติตามหมอสั่งทุกประการ) เขานำโทษพิษอันไม่สะอาดออกไป ด้วยการกระทำอันถูกต้องเหล่านี้ แผลจึงไม่มีเชื้อเหลืออยู่, และงอกขึ้นเต็มเพราะเหตุทั้งสองนั้น. เขามีแผลงอกเต็ม มีผิวหนังราบเรียบแล้ว ก็ไม่ถึงซึ่งความตาย หรือความทุกข์เจียนตาย, นี้ฉันใด ;--สุนักขัตตะ ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือข้อที่ภิกษุบางรูป สำคัญตนว่าน้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ....แล้วไม่ตามประกอบในธรรมที่ไม่เป็นที่สบายแก่การน้อมไปในนิพพานโดยชอบ....ราคะก็ไม่เสียบแทงจิตเธอ. เธอมีจิตอันราคะไม่เสียบแทงแล้ว ย่อมไม่ถึงความตาย หรือความทุกข์เจียนตาย.--สุนักขัตตะ ! อุปมานี้เรากระทำขึ้น เพื่อให้เข้าใจเนื้อความ นี้คือเนื้อความในอุปมานั้น ; คำว่า ‘แผล’ เป็นชื่อแห่งอายตนะภายในหก. คำว่า--‘โทษอันเป็นพิษ’ เป็นชื่อแห่ง อวิชชา. คำว่า ‘ลูกศร’ เป็นชื่อแห่ง ตัณหา. คำว่า ‘เครื่องตรวจ’ เป็นชื่อแห่ง สติ. คำว่า ‘ศาสตรา’ เป็นชื่อของ อริยปัญญา. คำว่า ‘หมอผ่าตัด’ เป็นชื่อของ ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธะ.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - อุปริ.ม. 14/69/77.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - อุปริ.ม. ๑๔/๖๙/๗๗.
ลำดับสาธยายธรรม : 37
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 563
ชื่อบทธรรม : -ผู้ตายคาประตูนิพพาน
เนื้อความทั้งหมด :-ผู้ตายคาประตูนิพพาน--สุนักขัตตะ ! ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ คือจะมีภิกษุบางรูปในกรณีนี้มีความเข้าใจของตนมีความหมายอันสรุปได้อย่างนี้เป็นต้น ว่า “ตัณหานั้น สมณะกล่าวกันว่าเป็นลูกศร, โทษอันมีพิษของอวิชชา ย่อมงอกงามเพราะฉันทราคะและพยาบาท, ลูกศรคือตัณหานั้นเราละได้แล้ว, โทษอันมีพิษของอวิชชา เราก็นำออกไปหมดแล้ว, เราเป็นผู้น้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ” ดังนี้. เธอนั้นย่อมตามประกอบซึ่งธรรมทั้งหลายอันไม่เป็นที่สบายแก่ผู้น้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ ; คือตามประกอบซึ่งธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ในการเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้สึกธรรมารมณ์ด้วยใจ อันล้วนไม่เป็นที่สบาย. เมื่อเธอตามประกอบซึ่งธรรมอันไม่เป็นที่สบายเหล่านี้ อยู่, ราคะย่อมเสียบแทงจิตของเธอ. เธอมีจิตอันราคะเสียบแทงแล้ว ย่อมถึงความตายหรือความทุกข์เจียนตาย.--สุนักขัตตะ ! เปรียบเหมือนบุรุษถูกยิงด้วยลูกศรอันอาบไว้ด้วยยาพิษอย่างแรงกล้า. มิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิตของเขา จัดหาหมอผ่าตัดมารักษาหมอได้ใช้ศาสตราชำแหละปากแผลของเขา แล้วใช้เครื่องตรวจค้นหาลูกศร พบแล้วถอนลูกศรออก กำจัดโทษอันเป็นพิษที่ยังมีเชื้อเหลือติดอยู่ จนรู้ว่าไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่ แล้วกล่าวแก่เขาอย่างนี้ว่า “บุรุษผู้เจริญ ! ลูกศรถูกถอนออกแล้ว,--โทษอันเป็นพิษเรานำออกจนไม่มีเชื้อเหลืออยู่แล้ว, ท่านไม่มีอันตรายอีกแล้ว, และท่านจะ บริโภคอาหารได้ตามสบาย แต่อย่าไปกินอาหารชนิดที่ไม่สบายแก่แผลอันจะทำให้แผลอักเสบ และจงล้างแผลตามเวลา ทายาที่ปากแผลตามเวลา, เมื่อท่านล้างแผลตามเวลา ทายาที่ปากแผลตามเวลา อย่าให้หนองและเลือดเกรอะกรังปากแผล, และท่านอย่าเที่ยวตากลมตากแดด, เมื่อเที่ยวตากลมตากแดด, ก็อย่าให้ฝุ่นละอองและของโสโครกเข้าไปในปากแผล. บุรุษผู้เจริญ ! ท่านจงเป็นผู้ระวังรักษาแผล มีเรื่องแผลเป็นเรื่องสำคัญเถอะนะ” ดังนี้. บุรุษนั้นมีความคิดว่า “หมอถอนลูกศรให้เราเสร็จแล้ว โทษอันเป็นพิษหมอก็นำออกจนไม่มีเชื้อเหลืออยู่แล้ว เราหมดอันตราย” เขาจึงบริโภคโภชนะที่แสลง, เมื่อบริโภคโภชนะที่แสลง แผลก็กำเริบ, และเขาไม่ชะแผลตามเวลาไม่ทายาที่ปากแผลตามเวลา, เมื่อเขาไม่ชะแผลตามเวลา ไม่ทายาที่ปากแผลตามเวลา หนองและเลือดก็เกรอะกรังปากแผล, และเขาเที่ยวตากลมตากแดดปล่อยให้ฝุ่นละอองของโสโครกเข้าไปในปากแผล, และเขาไม่ระวังรักษาแผลไม่มีเรื่องแผลเป็นเรื่องสำคัญ. เขานำโทษพิษอันไม่สะอาดออกไปด้วยการกระทำอันไม่ถูกต้องเหล่านี้ แผลจึงมีเชื้อเหลืออยู่, แผลก็บวมขึ้นเพราะเหตุทั้งสองนั้น. บุรุษนั้นมีแผลบวมแล้ว ก็ถึงซึ่งความตายบ้าง ซึ่งความทุกข์เจียนตายบ้าง, นี้ฉันใด ;--สุนักขัตตะ ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือข้อที่ภิกษุบางรูป สำคัญตนว่าน้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ.... แต่ตามประกอบในธรรมไม่เป็นที่สบายแก่การน้อมไปในนิพพานโดยชอบ....ราคะก็เสียบแทงจิตของเธอ. เธอมีจิตอันราคะเสียบแทงแล้ว ย่อมถึงความตาย หรือความทุกข์เจียนตาย. สุนักขัตตะ ! ในอริยวินัยนี้ ความตายหมายถึงการบอกคืนสิกขา เวียนไปสู่เพศต่ำ ; ความทุกข์เจียนตายหมายถึงการต้องอาบัติ อันเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง แล.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม. 14/66/76.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม. ๑๔/๖๖/๗๖.
ลำดับสาธยายธรรม : 37
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 564
ชื่อบทธรรม : -(ภิกษุในกรณีนี้ มีการศึกษาดี ตั้งความปรารถนาดี แต่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตนเองและธรรมะ ; คือเข้าใจไปว่า ลูกศรคือตัณหาเป็นสิ่งที่ละได้โดยไม่ต้องถอน อวิชชาเป็นสิ่งที่เหวี่ยงทิ้งไปได้โดยไม่ต้องกำจัดตัดราก ; และเข้าใจตัวเองว่า น้อมไปแล้วสู่นิพพานโดยชอบ ดังนี้ แต่แล้วก็มากระทำผิดในสิ่งที่ไม่เป็นสบายแก่การน้อมไปในนิพพานนั้น ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนราคะเกิดขึ้นเสียบแทง ถึงแก่ความตายในอริยวินัย, จึงเรียกว่า เขาล้มลงตายตรงหน้าประตูแห่งพระนิพพานนั่นเอง).
เนื้อความทั้งหมด :-(ภิกษุในกรณีนี้ มีการศึกษาดี ตั้งความปรารถนาดี แต่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตนเองและธรรมะ ; คือเข้าใจไปว่า ลูกศรคือตัณหาเป็นสิ่งที่ละได้โดยไม่ต้องถอน อวิชชาเป็นสิ่งที่เหวี่ยงทิ้งไปได้โดยไม่ต้องกำจัดตัดราก ; และเข้าใจตัวเองว่า น้อมไปแล้วสู่นิพพานโดยชอบ ดังนี้ แต่แล้วก็มากระทำผิดในสิ่งที่ไม่เป็นสบายแก่การน้อมไปในนิพพานนั้น ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนราคะเกิดขึ้นเสียบแทง ถึงแก่ความตายในอริยวินัย, จึงเรียกว่า เขาล้มลงตายตรงหน้าประตูแห่งพระนิพพานนั่นเอง).--ผู้หลุดพ้นได้เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่น--ในกาลไหน ๆ ท่านเหล่าใด เห็นภัยในความยึดถืออันเป็นตัวเหตุให้เกิดและให้ตายแล้ว เลิกยึดมั่นถือมั่นหลุดพ้นไปได้ เพราะอาศัยนิพพานอันเป็นธรรมที่สิ้นไปแห่งความเกิดความตาย ; เหล่าท่านผู้เช่นนั้น ย่อมประสพความสุข ลุพระนิพพานอันเป็นธรรมเกษม เป็นผู้ดับเย็นได้ ในปัจจุบันนี้เอง ล่วงเวรล่วงภัยทุกอย่างเสียได้ และก้าวล่วงเสียได้ ซึ่งความเป็นทุกข์ทั้งปวง.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม. 14/346/525.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - อุปริ. ม. ๑๔/๓๔๖/๕๒๕.
ลำดับสาธยายธรรม : 37
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 565
ชื่อบทธรรม : -ผู้กำลังโน้มเอียงไปสู่นิพพาน
เนื้อความทั้งหมด :-ผู้กำลังโน้มเอียงไปสู่นิพพาน--ภิกษุ ท. ! คงคานที ลุ่มไปทางทิศตะวันออก ลาดไปทางทิศตะวันออก เทไปทางทิศตะวันออก ข้อนี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! ภิกษุเจริญฌานสี่อยู่กระทำฌานสี่ให้มากอยู่ ก็ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน ฉันนั้นก็เหมือนกัน.--ภิกษุ ท. ! ภิกษุเจริญฌานสี่อยู่ กระทำฌานสี่ให้มากอยู่ ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน เป็นอย่างไรเล่า ?--ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ สงัดแล้วจากกามทั้งหลาย สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึง ปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่ ; เพราะความที่วิตกวิจารทั้งสองระงับลง เข้าถึง ทุติยฌานเป็นเครื่องผ่องใสใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่ ; อนึ่ง เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติ อยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ เข้าถึง ตติยฌาน แล้วแลอยู่ ; เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสองในกาลก่อน เข้าถึง จตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่.--ภิกษุ ท. ! อย่างนี้แล ภิกษุเจริญฌานสี่อยู่ กระทำฌานสี่ให้มากอยู่ ย่อมเป็นผู้ลุ่มไปทางนิพพาน ลาดไปทางนิพพาน เทไปทางนิพพาน.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. 19/392/1301-1302.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๙๒/๑๓๐๑-๑๓๐๒.
ลำดับสาธยายธรรม : 37
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 566
ชื่อบทธรรม : -ผู้ปฏิบัติเพื่อความดับเย็นเป็นนิพพาน
เนื้อความทั้งหมด :-ผู้ปฏิบัติเพื่อความดับเย็นเป็นนิพพาน--ภิกษุ ท. ! รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ล่วงไปแล้วก็ดีที่จะมาข้างหน้าก็ดี ล้วนเป็นของ ไม่เที่ยง, จักกล่าวไปใย ถึงรูป เวทนา สัญญา--สังขาร วิญญาณ ที่เป็นปัจจุบันนี้เล่า.--ภิกษุ ท. ! รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ล่วงไปแล้วก็ดีที่จะมาข้างหน้าก็ดี ล้วนเป็นของที่ คงอยู่อย่างนั้นไม่ได้ เป็นทุกข์, จักกล่าวไปใย ถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นปัจจุบันนี้เล่า.--ภิกษุ ท. ! รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ล่วงไปแล้วก็ดีที่จะมาข้างหน้าก็ดี ล้วนเป็นของที่ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน, จักกล่าวไปใย ถึงรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นปัจจุบันนี้เล่า.--ภิกษุ ท. ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้มีการสดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อม หมดอาลัยยินดี ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ได้ล่วงไปแล้ว, ย่อม ไม่นึกเพลิน เกี่ยวกับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่จะมีมา, แต่จัก เป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อหน่าย เพื่อคลายออก เพื่อได้ดับสนิทเสีย ซึ่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นปัจจุบันนี้แล.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ขนฺธ. สํ. 17/25-6/36-8.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๕-๖/๓๖-๘.
ลำดับสาธยายธรรม : 37
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 567
ชื่อบทธรรม : -ผู้รู้ความลับของปิยรูป-สาตรูป
เนื้อความทั้งหมด :-ผู้รู้ความลับของปิยรูป-สาตรูป--ภิกษุ ท. ! ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง บรรดามีในครั้ง อดีตกาล นานไกลมา ได้เห็นอารมณ์อันเป็นที่รักที่ชื่นใจในโลก โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นสภาพมิใช่ตัวตน, เห็นโดยความเป็นของเสียบแทง เป็นภัยน่ากลัว แล้ว ; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ก็ละตัณหาได้แล้ว.--ภิกษุ ท. ! ก็สมณะหรือพราหมณ์ เหล่าใดเหล่าหนึ่ง บรรดาที่จะมีใน อนาคต หากได้เห็นอารมณ์อันเป็นที่รักที่ชื่นใจในโลก โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นสภาพมิใช่ตัวตน, เห็นโดยความเป็นของเสียบแทงเป็นภัยน่ากลัว แล้ว ; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ก็จักละตัณหาได้.--ภิกษุ ท. ! แม้สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง บรรดาที่มีในปัจจุบันนี้ เห็นอยู่ซึ่งอารมณ์อันเป็นที่รักที่ชื่นใจในโลก โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นสภาพมิใช่ตัวตน, เห็นโดยความเป็นของเสียบแทง เป็นภัยน่ากลัว แล้ว ; สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมละตัณหาได้.--ภิกษุ ท. ! สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด ละตัณหาได้, สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมละอุปธิได้ ; เมื่อละอุปธิได้ ก็ย่อมละทุกข์ได้ ; เมื่อละทุกข์ได้ ก็ย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสและอุปายาส ; เราตถาคตกล่าวว่าสมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น พ้นจากทุกข์ได้ ดังนี้แล.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - นิทาน. สํ. 16/134/261.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - นิทาน. สํ. ๑๖/๑๓๔/๒๖๑.
ลำดับสาธยายธรรม : 37
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 568
ชื่อบทธรรม : -ผู้มีจิตอันหาขอบเขตมิได้
เนื้อความทั้งหมด :-ผู้มีจิตอันหาขอบเขตมิได้--ภิกษุ ท. ! ตลอดกาลเพียงใด ที่สัตว์ทั้งหลาย ยังไม่ได้รู้ยิ่งตามเป็นจริง ซึ่งรสอร่อย ของอุปาทานขันธ์ห้าเหล่านี้ โดยความเป็นรสอร่อย. ยังไม่ได้รู้ยิ่งตามเป็นจริง ซึ่ง โทษ ของอุปาทานขันธ์ห้า โดยความเป็นโทษ, ยังไม่ได้รู้ยิ่งตามเป็นจริง ซึ่ง อุบายออกพ้นไปได้ จากอุปาทานขันธ์ห้า โดยความเป็นอุบายให้ออกพ้นไป ;--ภิกษุ ท. ! ตลอดกาลเพียงนั้น สัตว์ทั้งหลาย ก็ ยังไม่ชื่อว่าเป็นผู้ได้แล่นหลุดออกไป. ยังไม่ชื่อว่าเป็นผู้ปราศจากเครื่องเกี่ยวเกาะหลุดพ้นแล้ว, ยังเป็นผู้มีใจอันอยู่ในขอบเขตโลกนี้ ขอบเขตเทวโลก มารโลก พรหมโลก, ยังอยู่ในขอบเขตของหมู่สัตว์ หมู่สมณะ หมู่พราหมณ์ และในขอบเขตของเหล่าเทวดาและมนุษย์ อยู่นั่นเอง.--ภิกษุ ท. ! เมื่อใดแล สัตว์ทั้งหลาย มารู้ยิ่งตามเป็นจริงแล้ว ซึ่งรสอร่อย ของอุปาทานขันธ์ห้า โดยความเป็นรสอร่อย, ได้รู้ยิ่งตามเป็นจริงซึ่ง โทษ ของอุปาทานขันธ์ห้า โดยความเป็นโทษ, ได้รู้ยิ่งตามเป็นจริงซึ่ง อุบายออกพ้นไปได้ จากอุปาทานขันธ์ห้า โดยความเป็นอุบายให้ออกพ้นไป ;--ภิกษุ ท. ! เมื่อนั้นแหละ สัตว์เหล่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ ได้แล่นหลุดออกไป เป็นผู้ปราศจากเครื่องเกี่ยวเกาะ หลุดพ้นแล้ว เป็นผู้มีใจอันหาขอบเขตมิได้ เป็นอยู่ในโลกนี้ ในเทวโลก มารโลก พรหมโลก, เป็นอยู่ในหมู่สัตว์ หมู่สมณะ หมู่พราหมณ์ ในเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ขนฺธ. สํ. 17/38/63.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๘/๖๓.
ลำดับสาธยายธรรม : 37
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 569
ชื่อบทธรรม : -ความรู้สึกในใจของผู้ชนะตัณหาได้
เนื้อความทั้งหมด :-ความรู้สึกในใจของผู้ชนะตัณหาได้--เมื่อเรายังไม่พบญาณ ก็ได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสาร เป็นอเนกชาติ, แสวงหาอยู่ซึ่งนายช่างปลูกเรือน คือตัณหา ผู้สร้างภพ, การเกิดทุกคราวเป็นทุกข์ร่ำไป.--นายช่างผู้ปลูกเรือนเอ๋ย ! ฉันรู้จักแกเสียแล้ว ; เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป. โครงเรือนทั้งหมดของเจ้า เราหักเสียแล้ว; ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว. จิตของเราถึงแล้ว ซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป เพราะถึงความสิ้นไป แห่งตัณหาเสียแล้ว.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ธ. ขุ. 25/35/21.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ธ. ขุ. ๒๕/๓๕/๒๑.
ลำดับสาธยายธรรม : 37
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site