สัทธรรมลำดับที่ : 321
ชื่อบทธรรม : -ตัณหาเจริญเพราะมิจฉาทิฏฐิในปิยรูป - สาตรูป
เนื้อความทั้งหมด :-ตัณหาเจริญเพราะมิจฉาทิฏฐิในปิยรูป - สาตรูป--ภิกษุ ท. ! สมณะหรือพราหมณ์พวกใด ในกาลอดีตก็ตาม, ในกาลอนาคตก็ตาม, ในกาลนี้ก็ตาม, ย่อม เห็นสิ่งอันเป็นที่รักที่สนิทใจ (ปิยรูปสาตรูป) ในโลก โดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข โดยความเป็นตัวตน โดยความเป็นของไม่เสียบแทง โดยความเป็นของเกษม ; สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น ย่อมทำตัณหาให้เจริญ. เมื่อทำตัณหาให้เจริญอยู่ ก็ทำอุปธิให้เจริญ. เมื่อทำอุปธิให้เจริญอยู่ ก็ทำทุกข์ให้เจริญ. เมื่อทำทุกข์ให้เจริญอยู่สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น ย่อมไม่หลุดพ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ; เราตถาคต ย่อมกล่าวว่า “พวกเหล่านั้น ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์” ดังนี้.--ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือน ถ้วยดื่มสำริดมีเครื่องดื่มใส่อยู่แล้วชนิดหนึ่ง สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส แต่ว่ามียาพิษปนติดอยู่. ครั้งนั้น มีบุรุษผู้หนึ่งซึ่งกำลังร้อนจัด มีความร้อนระอุไปทั้งตัว เหน็ดเหนื่อย คอแห้ง ระหายน้ำ มาถึงเข้า. คนทั้งหลายบอกแก่บุรุษนั้นว่า “นี่แน่ท่านผู้เจริญ ! ถ้วยดื่มสำริดใบนี้ มีเครื่องดื่ม สมบูรณ์ด้วยสี กลิ่น และรส สำหรับท่าน, แต่ว่ามียาพิษปนติดอยู่, ถ้าหากท่านต้องการดื่มก็ดื่มได้, เมื่อท่านกำลังดื่ม จักติดใจมันด้วยสีของมันบ้าง ด้วยกลิ่นของมันบ้าง ด้วยรสของมันบ้าง ; แต่ว่า ครั้นดื่ม--เข้าไปแล้ว ท่านจักถึงความตาย หรือได้รับทุกข์เจียนตายเพราะเหตุนั้น” ดังนี้. บุรุษนั้น ไม่ทันจะพิจารณาถ้วยดื่มสำริดอันนั้น (ว่าจะควรดื่มหรือไม่ควรดื่ม อย่างไร เป็นต้น) รีบดื่มเอาๆ ไม่ยอมวาง. บุรุษนั้น ก็ถึงความตาย หรือ ได้รับทุกข์เจียนตาย เพราะเหตุนั้น. ฉันใดก็ฉันนั้น ที่สมณะหรือพราหมณ์พวกใด ในกาลอดีตก็ตาม. ในกาลอนาคตก็ตาม, ในกาลนี้ก็ตาม, ย่อมเห็นสิ่งอันเป็นที่รักที่สนิทใจในโลก โดยความเป็นของเที่ยง ....ฯลฯ.... ย่อมไม่หลุดพ้นจากทุกข์” ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - นิทาน. สํ. 16/132-133/259-260.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - นิทาน. สํ. ๑๖/๑๓๒-๑๓๓/๒๕๙-๒๖๐.
ลำดับสาธยายธรรม : 22
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 322
ชื่อบทธรรม : -นิทเทศ ๗
เนื้อความทั้งหมด :-นิทเทศ ๗--ว่าด้วยทิฏฐิเกี่ยวกับตัณหา--จบ--นิทเทศ ๘ ว่าด้วยกิเลสทั้งหลายในฐานะสมุทัย--(มี ๑๕ เรื่อง)--ละราคะโทสะโมหะก่อนละชาติชรามรณะ--ภิกษุ ท. ! บุคคล เมื่อไม่ละซึ่งธรรมสาม คือ ราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งธรรมสาม คือ ชาติ ๑ ชรา ๑ มรณะ ๑.--ภิกษุ ท. ! บุคคล เมื่อไม่ละซึ่งธรรมสาม คือ สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่ากายของตน) ๑ วิจิกิจฉา (ความลังเลในธรรมที่ไม่ควรลังเล) ๑ สีลัพพตปรามาส(การลูบคลำศีลและวัตรอย่างปราศจากเหตุผล) ๑ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งธรรมสาม คือราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑.--ภิกษุ ท. ! บุคคล เมื่อไม่ละซึ่งธรรมสาม คือ อโยนิโสมนสิการ (ความทำในใจไม่แยบคาย) ๑ กุมมัคคเสวนา (การพัวพันอยู่ในทิฏฐิอันชั่ว) ๑ เจตโสลีนัตตา (ความมีจิตหดหู่) ๑ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งธรรมสาม คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑.--ภิกษุ ท. ! บุคคล เมื่อไม่ละซึ่งธรรมสาม คือ มุฏฐสัจจะ (ความมีสติอันลืมหลง) ๑ อสัมปชัญญะ (ความปราศจากสัมปชัญญะ) ๑ เจตโสวิกเขปะ (ความส่ายแห่งจิต) ๑ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งธรรมสาม คือ อโยนิโสมนสิการ ๑ กุมมัคคเสวนา ๑ เจตโสลีนัตตา ๑.--ภิกษุ ท. ! บุคคลเมื่อไม่ละซึ่งธรรมสาม คือ อริยานังอทัสสนกัม๎ยตา (ความไม่อยากเห็นพระอริยเจ้า) ๑ อริยธัมมังอโสตุกัม๎ยตา (ความไม่อยากฟังธรรมธรรมของพระอริยเจ้า) ๑ อุปารัมภจิตตตา (ความมีจิตเที่ยวเกาะเกี่ยว) ๑ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งธรรมสาม คือ มุฏฐสัจจะ ๑ อสัมปชัญญะ ๑ เจตโสวิกเขปะ ๑.--ภิกษุ ท. ! บุคคล เมื่อไม่ละซึ่งธรรมสาม คือ อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) ๑ อสังวระ (ความไม่สำรวม) ๑ ทุสสีล๎ยะ (ความทุศีล) ๑ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งธรรมสาม คือ อริยานังอทัสสนกัม๎ยตา ๑ อริยธัมมังอโสตุกัม๎ยตา ๑ อุปารัมภจิตตตา ๑.--ภิกษุ ท. ! บุคคล เมื่อไม่ละซึ่งธรรมสาม คือ อสัทธิยะ (ความไม่มีสัทธา) ๑ อวทัญญุตา (ความไม่เป็นวทัญญู) ๑ โกสัชชะ (ความเกียจคร้าน) ๑ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งธรรมสาม คือ อุทธัจจะ ๑ อสังวระ ๑ ทุสสีล๎ยะ ๑.--ภิกษุ ท. ! บุคคล เมื่อไม่ละซึ่งธรรมสาม คือ อนาทริยะ (ความไม่เอื้อเฟื้อในบุคคลและธรรมอันควรเอื้อเฟื้อ) ๑ โทวจัสสตา (ความเป็นคนว่ายาก) ๑ ปาปมิตตตา (ความมีมิตรชั่ว) ๑ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งธรรมสาม คือ อสัทธิยะ ๑ อวทัญญุตา ๑ โกสัชชะ ๑.--ภิกษุ ท. ! บุคคล เมื่อไม่ละซึ่งธรรมสาม คือ อหิริกะ (ความไม่ละอายในสิ่งที่ควรละอาย) ๑ อโนตตัปปะ (ความไม่กลัวในสิ่งที่ควรกลัว) ๑ ปมาทะ (ความประมาท) ๑ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งธรรมสาม คือ อนาทริยะ ๑ โทวจัสสตา ๑ ปาปมิตตตา ๑ :--ภิกษุ ท. ! บุคคลนี้ เป็นผู้มี อหิริกะ มีอโนตตัปปะ มีปมาทะ แล้ว.--เขาเมื่อเป็นผู้ มีปมาทะอยู่แล้ว ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งอนาทริยะ ๑ โทวจัสสตา ๑ ปาปมิตตตา ๑ ;--เขาเมื่อเป็นผู้ มีปาปมิตตตา ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งอสัทธิยะ ๑ อวทัญญุตา ๑ โกสัชชะ ๑ ;--เขาเมื่อเป็นผู้ มีโกสัชชะ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งอุทธัจจะ ๑ อสังวระ ๑ ทุสสีล๎ยะ ๑ ;--เขาเมื่อเป็นผู้ มีทุสสีล๎ยะ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งอริยานังอทัสสนกัม๎ยตา ๑ อริยธัมมังอโสตุกัม๎ยตา ๑ อุปารัมภจิตตตา ๑ ;--เขาเมื่อเป็นผู้ มีอุปารัมภจิตตตา ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งมุฏฐสัจจะ ๑ อสัมปชัญญะ ๑ เจตโสวิกเขปะ ๑ ;--เขาเมื่อเป็ผผู้ มีเจตโสวิกเขปะ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งอโยนิโสมนสิการ ๑ กุมมัคคเสวนา ๑ เจตโสลีนัตตา ๑ ;--เขาเมื่อเป็นผู้ มีเจตโสลีนัตตา ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งสักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สีลัพพตปรามาส ๑ ;--เขาเมื่อเป็นผู้ มีวิจิกิจฉา ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ;--เขาเมื่อไม่ละซึ่งราคะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ ก็ไม่อาจเพื่อละซึ่งชาติ ๑ ชรา ๑ มรณะ ๑.--(ต่อไปได้ตรัสข้อความเกี่ยวกับปฏิปักขนัยฝ่ายตรงกันข้าม อันเป็นฝ่ายที่ทำให้ละชาติ-ชรา-มรณะ ได้ ผู้อ่านสามารถเทียบเคียงได้เอง จึงมิได้นำมากล่าวไว้ในที่นี้).-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ทสก. อํ. 24/154-157/76.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ทสก. อํ. ๒๔/๑๕๔-๑๕๗/๗๖.
ลำดับสาธยายธรรม : 22
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 323
ชื่อบทธรรม : -ทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับอกุศลมูล
เนื้อความทั้งหมด :-ทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับอกุศลมูล--ภิกษุ ท. ! อกุศลมูล ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. สามอย่างเหล่าไหนเล่า? สามอย่างคือ โลภะ เป็น อกุศลมูล โทสะ เป็น อกุศลมูล โมหะ เป็น อกุศลมูล.--ภิกษุ ท. ! แม้ โลภะ นั้น ก็เป็น อกุศล. คนโลภแล้ว ประกอบกรรมใดทางกาย ทางวาจา ทางใจ แม้ กรรมนั้น ก็เป็น อกุศล. คนโลภถูกความโลภครอบงำแล้ว มีจิตอันความโลภกลุ้มรุมแล้ว ทำความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น โดยที่ไม่ควรจะมี ด้วยการฆ่าบ้าง ด้วยการจองจำบ้าง ด้วยการให้เสื่อมเสียบ้าง ด้วยการติเตียนบ้าง ด้วยการขับไล่บ้าง โดยการถือว่า เรามีกำลังเหนือกว่า ดังนี้ แม้กรรมนี้ก็เป็น อกุศล : อกุศลธรรมอันลามกเป็นอเนก ที่เกิดจากความโลภ มีความโลภเป็นเหตุ มีความโลภเป็นสมุทัย มีความโลภเป็นปัจจัย เหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา ด้วยอาการอย่างนี้.--(ในกรณีแห่ง โทสะ และ โมหะ ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความทำนองเดียวกันอย่างที่กล่าวได้ว่า ทุกตัวอักษร ผิดกันแต่ชื่อเท่านั้น).--ภิกษุ ท. ! บุคคลชนิดนี้นั้น ควรถูกเรียกว่าเป็นอกาลวาที บ้าง อภูตวาที บ้าง อนัตถวาที บ้าง อธัมมวาที บ้าง อวินยวาที บ้าง. เพราะเหตุไร จึงควรถูกเรียกอย่างนั้น ? เพราะเหตุว่าบุคคลนี้ทำความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น โดยที่ไม่ควรจะมี ด้วยการฆ่าบ้าง ด้วยการจองจำบ้าง ด้วยการให้เสื่อมเสียบ้าง ด้วยการติเตียนบ้าง ด้วยการขับไล่บ้าง โดยการถือว่า เรามีกำลังเหนือกว่า ดังนี้ ; และเมื่อ เขาถูกกล่าวหาอยู่ด้วยเรื่องที่เป็นจริง ก็บิดพลิ้วไม่ยอมรับ ; เมื่อถูกกล่าวหาอยู่ด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง ก็ไม่พยายามที่จะทำให้แจ้งชัด ออกไปว่า--นั่นไม่ตรง นั่นไม่จริง อย่างนี้ ๆ. เพราะฉะนั้นบุคคลชนิดนี้ จึงควรถูกเรียกว่า เป็นอกาลวาทีบ้าง อภูติวาทีบ้าง อนัตถวาทีบ้าง อธัมมวาทีบ้าง อวินยวาทีบ้าง.--ภิกษุ ท. ! บุคคลชนิดนี้ ถูกอกุศลธรรมอันลามกซึ่งเกิดมาจากความโลภครอบงำแล้ว มีจิตอันอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดจากโลภะกลุ้มรุมแล้วย่อม อยู่เป็นทุกข์ มีความลำบาก มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน ในทิฏฐธรรม นั่นเทียว, ภายหลังแต่การตาย เพราะการทำลายแห่งกาย ย่อมหวังได้แต่ทุคติ. (ในกรณีแห่ง ความโกรธ และ ความหลง ก็ตรัสไว้โดยข้อความทำนองเดียวกัน อย่างที่กล่าวได้ว่าทุกตัวอักษร ผิดกันแต่ชื่อเท่านั้น). ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่นต้นสาละ ตันธวะ หรือต้นผันทนะก็ดี ถูกเครือเถามาลุวาสามชนิดขึ้นคลุมแล้ว รัดรึงแล้ว ย่อมถึงความพินาศฉิบหาย, ฉันใดก็ฉันนั้น.--ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล อกุศลมูล ๓ อย่าง.--(พระองค์ยังได้ตรัสข้อความเป็นปฏิปักขนัยฝ่ายตรงกันข้ามอีก ซึ่งผู้ศึกษาหาดูได้จากหัวข้อว่า “ปรินิพพานในทิฏฐธรรมด้วยการตัดอกุศลมูล” ในภาค ๓ แห่งหนังสือเล่มนี้).-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ติก. อํ. 20/258/509.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ติก. อํ. ๒๐/๒๕๘/๕๐๙.
ลำดับสาธยายธรรม : 22
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 324
ชื่อบทธรรม : -ข้อควรทราบเกี่ยวกับอกุศลมูล
เนื้อความทั้งหมด :-ข้อควรทราบเกี่ยวกับอกุศลมูล--(หลายแง่มุม)--ภิกษุ ท. ! ถ้าพวกปริพพาชกเดียรถีย์เหล่าอื่น จะพึงถามอย่างนี้ว่า “อาวุโส! ธรรม ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่ คือราคะ โทสะ โมหะ. อาวุโส ! อะไรเป็นความผิดแปลก อะไรเป็นความแตกต่าง อะไรเป็นเครื่องแสดงความต่าง ระหว่างธรรม--๓ อย่างเหล่านั้น ? ” ดังนี้ .... ภิกษุ ท. ! พวกเธอถูกถาม อย่างนี้แล้ว พึงพยากรณ์แก่เขาว่า “อาวุโส ! ราคะมีโทษน้อย คลายช้า. โทสะมีโทษมากคลายเร็ว. โมหะมีโทษมาก คลายช้า”.--ถ้าเขาถามว่า “อาวุโส ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้ราคะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น, หรือราคะที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเจริญโดยยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ ?” ดังนี้. คำตอบพึงมีว่า สุภนิมิต (สิ่งที่แสดงให้รู้สึกว่างาม) ; คือเมื่อเขาทำในใจ ซึ่งสุภนิมิตโดยไม่แยบคาย ราคะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น และราคะที่เกิดอยู่แล้วก็ เป็นไปเพื่อความเจริญโดยยิ่ง เพื่อความไพบูลย์. อาวุโส ! นี้คือเหตุ นี้คือปัจจัย.--ถ้าเขาถามอีกว่า “อาวุโส ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้โทสะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น, หรือโทสะที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเจริญโดยยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ ?” ดังนี้. คำตอบพึงมีว่า ปฏิฆนิมิต (สิ่งที่แสดงให้รู้สึกกระทบกระทั่ง); คือเมื่อเขาทำในใจซึ่งปฏิฆนิมิตโดยไม่แยบคาย โทสะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น และ โทสะที่เกิดอยู่แล้วก็เป็นไปเพื่อความเจริญโดยยิ่ง เพื่อความไพบูลย์. อาวุโส ! นี้คือเหตุ นี้คือปัจจัย.--ถ้าเขาถามอีกว่า “อาวุโส ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้โมหะที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น, หรือโมหะที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเจริญโดยยิ่ง เพื่อความไพบูลย์ ?” ดังนี้. คำตอบพึงมีว่า อโยนิโสมนสิการ ( การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย) ; คือเมื่อทำในใจโดยไม่แยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น และโมหะที่เกิดอยู่แล้ว ก็เป็นไปเพื่อความเจริญโดยยิ่ง เพื่อความไพบูลย์. อาวุโส ! นี้คือเหตุ นี้คือปัจจัย.--ถ้าเขาถามอีกว่า “อาวุโส ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้ราคะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น, หรือราคะที่เกิดขึ้นแล้ว ละไป ?” ดังนี้. คำตอบพึงมีว่า อสุภนิมิต (สิ่งที่แสดงให้รู้สึกว่าไม่งาม) ; คือเมื่อเขาทำในใจซึ่งอสุภนิมิตโดยแยบคาย ราคะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น และราคะที่เกิดอยู่แล้วก็ละไป. อาวุโส ! นี้คือเหตุ นี้คือปัจจัย.--ถ้าเขาถามอีกว่า “อาวุโส ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้โทสะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น, หรือโทสะที่เกิดขึ้นแล้ว ละไป ?” ดังนี้. คำตอบพึงมีว่า เมตตาเจโตวิมุตติ (ความหลุดพ้นแห่งจิตอันประกอบอยู่ด้วยเมตตา) ; คือเมื่อเขาทำในใจซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติโดยแยบคาย โทสะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น และโทสะที่เกิดอยู่แล้วก็ละไป. อาวุโส ! นี้คือเหตุ นี้คือปัจจัย.--ถ้าเขาถามอีกว่า “อาวุโส ! อะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นปัจจัย ที่ทำให้โมหะที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น, หรือโมหะที่เกิดขึ้นแล้ว ละไป ?” ดังนี้. คำตอบพึงมีว่า โยนิโสมนสิการ คือเมื่อทำในใจโดยแยบคาย โมหะที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น และ โมหะที่เกิดอยู่แล้วก็ละไป. อาวุโส ! นี้คือเหตุ นี้คือปัจจัย.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ติก. อํ. 20/256/508.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ติก. อํ. ๒๐/๒๕๖/๕๐๘.
ลำดับสาธยายธรรม : 22
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 325
ชื่อบทธรรม : -ไม่อาจละราคะโทสะโมหะ
เนื้อความทั้งหมด :-ไม่อาจละราคะโทสะโมหะ--ก็เพราะหลงในสัญโญชนิยธรรม--ภิกษุ ท. ! ธรรม ๒ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. สองอย่างอะไรเล่า ? สองอย่างคือ ความเป็นผู้มัวแต่เห็นเป็นของอร่อยในสัญโญชนิยธรรมทั้งหลาย--อย่างหนึ่ง และความเป็นผู้ตามเห็นความเป็นของน่าเบื่อหน่ายในสัญโญชนิยธรรม (ธรรมอันเป็นเครื่องผูกพัน) ทั้งหลาย นี้อีกอย่างหนึ่ง.--ภิกษุ ท. ! บุคคลผู้มัวแต่เห็นเป็นของอร่อยในสัญโญชนิยธรรม (กามคุณห้า ฯลฯ) ทั้งหลาย อยู่ ย่อม ละราคะไม่ได้ ละโทสะไม่ได้ ละโมหะ ไม่ได้. เพราะละราคะโทสะโมหะไม่ได้ ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส ; เรากล่าวว่า ย่อมไม่พ้นจากทุกข์.--ภิกษุ ท. ! บุคคลผู้ตามเห็นความเป็นของน่าเบื่อหน่ายในสัญโญชนิยธรรมทั้งหลายอยู่ ย่อมละราคะได้ ย่อมละโทสะได้ ย่อมละโมหะได้. เพราะละราคะโทสะโมหะได้ ย่อมพ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส และอุปายาส ; เรากล่าวว่า ย่อมพ้นจากทุกข์ได้.--ภิกษุ ท. ! นี้แหละ คือธรรม ๒ อย่าง.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ทุก. อํ. 20/65/252.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ทุก. อํ. ๒๐/๖๕/๒๕๒.
ลำดับสาธยายธรรม : 22
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 326
ชื่อบทธรรม : -สังโยชน์เจ็ด
เนื้อความทั้งหมด :-สังโยชน์เจ็ด--ภิกษุ ท. ! สัญโญชน์ (สิ่งผูกพัน) ๗ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. เจ็ดอย่าง อย่างไรเล่า ? เจ็ดอย่าง คือ อนุนยสัญโญชน์ (สังโยชน์คือกามราคะเป็นเหตุให้ติดตาม) ๑ ปฏิฆสัญโญชน์ (สังโยชน์คือความโกรธไม่ได้อย่างใจ) ๑ ทิฏฐิสัญโญชน์ (สังโยชน์คือความเห็นผิด) ๑ วิจิกิจฉาสัญโญชน์ (สังโยชน์คือความลังเลสงสัย) ๑ มานสัญโญชน์ (สังโยชน์คือความสำคัญตน) ๑ ภวราคสัญโญชน์ (สังโยชน์คือความกำหนัดในภพ) ๑ อวิชชาสัญโญชน์ (สังโยชน์คืออวิชชา) ๑. ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล คือสัญโญชน์ ๗ อย่าง.--ภิกษุ ท. ! พรหมจรรย์ที่ประพฤติกันอยู่นี้ เพื่อละเพื่อตัดขาด ซึ่ง สัญโญชน์ ๗ อย่าง. เจ็ดอย่างเหล่าไหนเล่า ?--ภิกษุ ท. ! พรหมจรรย์ที่ประพฤติกันอยู่ เพื่อละเพื่อตัดขาด ซึ่ง อนุนยสัญโญชน์ ๑ ปฏิฆสัญโญชน์ ๑ ทิฏฐิสัญโญชน์ ๑ วิจิกิจฉาสัญโญชน์ ๑ มานสัญโญชน์ ๑ ภวราคสัญโญชน์ ๑ อวิชชาสัญโญชน์ ๑. ภิกษุ ท. ! พรหมจรรย์ที่ประพฤติกันอยู่นี้ เพื่อละเพื่อตัดขาด ซึ่งสัญโญชน์ ๗ อย่างเหล่านี้แล.--ภิกษุ ท. ! เมื่อใดแล, อนุนยสัญโญชน์ก็ดี ปฏิฆสัญโญชน์ก็ดี ทิฏฐิสัญโญชน์ก็ดี วิจิกิจฉาสัญโญชน์ก็ดี มานสัญโญชน์ก็ดี ภวราคสัญโญชน์ก็ดี อวิชชาสัญโญชน์ก็ดี เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว มีรากเง่าอันตัดขาดแล้ว ทำให้เหมือนตาลยอดเน่า ทำให้มีไม่ได้ ทำให้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้อีกต่อไป ;--ภิกษุ ท. ! เมื่อนั้น, ภิกษุนี้ เราเรียกว่า “ตัดตัณหาได้แล้ว รื้อถอนสัญโญชน์ได้แล้ว ได้ทำที่สุดแห่งทุกข์ เพราะรู้จักหน้าตาของมานะอย่าง ถูกต้องแล้ว” ดังนี้แล.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - สตฺตก. อํ. 23/7-8/8-9.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - สตฺตก. อํ. ๒๓/๗-๘/๘-๙.
ลำดับสาธยายธรรม : 22
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 327
ชื่อบทธรรม : -สังโยชน์เจ็ด อีกนัยหนึ่ง “ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละเพื่อตัดอนุสัยโดยเด็ดขาด”
เนื้อความทั้งหมด :-(เกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรดูหัวข้อว่า “ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละเพื่อตัดอนุสัยโดยเด็ดขาด” ที่หน้า ๔๓๑ แห่งหนังสือนี้ ประกอบด้วย).--(สังโยชน์เจ็ด อีกนัยหนึ่ง)--ภิกษุ ท. ! สัญโญชน์ ๗ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. เจ็ดอย่าง อย่างไรเล่า? เจ็ดอย่างคือ อนุนยสัญโญชน์ ๑ ปฏิฆสัญโญชน์ ๑ ทิฏฐิสัญโญชน์ ๑--วิจิกิจฉาสัญโญชน์ ๓ มานสัญโญชน์ ๑ อิสสาสัญโญชน์ (สังโยชน์คือความริษยา) ๑ มัจฉริยสัญโญชน์ (สังโยชน์คือความตระหนี่) ๑. ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล สัญโญชน์ ๗ อย่าง-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - สตฺตก. อํ. 23/8/10.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - สตฺตก. อํ. ๒๓/๘/๑๐.
ลำดับสาธยายธรรม : 22
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 328
ชื่อบทธรรม : -สังโยชน์สิบ
เนื้อความทั้งหมด :-สังโยชน์สิบ--ภิกษุ ท. ! สังโยชน์ ๑๐ ประการเหล่านี้ มีอยู่. สิบประการอย่างไรเล่า ? สิบประการ คือ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ.--โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท : เหล่านี้ คือ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ.--อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา : เหล่านี้ คือ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ.--ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล สัญโญชน์ ๑๐ ประการ.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ทสก. อํ. 24/18-19/13.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ทสก. อํ. ๒๔/๑๘-๑๙/๑๓.
ลำดับสาธยายธรรม : 22
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 329
ชื่อบทธรรม : -ลักษณะที่เป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์
เนื้อความทั้งหมด :-ลักษณะที่เป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์--“ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ! บัดนี้ เป็นการอันสมควรที่พระผู้มีพระภาคจะพึง--ทรงแสดงโอรัมภาคิยสังโยชน์ห้า. ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้.”--อานนท์ ! ในกรณีนี้ บุถุชน ผู้ไม่มีการสดับ ไม่เห็นพระอริยเจ้า ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า, ไม่เห็นสัปบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัปบุรุษ : ---เขามีจิตอัน สักกายทิฏฐิกลุ้มรุม แล้ว อันสักกายทิฏฐิห่อหุ้มแล้ว อยู่ ; เขา ไม่รู้ชัดตามเป็นจริงซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสักกายทิฏฐิอันเกิดขึ้นแล้ว, สักกายทิฏฐินั้นก็เป็นของมีกำลัง จนเขานำออกไปไม่ได้ จึงเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์. (ในกรณีแห่งวิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะและ พยาบาท (หรือปฏิฆะ) ก็มีข้อความตรัสไว้อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งสักกายทิฏฐิทุกประการ).--อานนท์ ! ส่วน อริยสาวกผู้มีการสดับ ได้เห็นพระอริยเจ้า เป็นผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า, ได้ เห็นสัปบุรุษ เป็นผู้ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของ สัปบุรุษ :---เธอมีจิตอัน สักกายทิฏฐิไม่กลุ้มรุม อันสักกายทิฏฐิไม่ห่อหุ้ม อยู่. อริยสาวกนั้นย่อม รู้ชัดตามที่เป็นจริง ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากสักกายทิฏฐิอันเกิดขึ้นแล้ว, สักกายทิฏฐินั้น อันอริยสาวกนั้นย่อมละได้พร้อมทั้งอนุสัย. (ในกรณีแห่ง วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และพยาบาท (หรือปฏิฆะ) ก็มีข้อความตรัสไว้อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งสักกายทิฏฐิทุกประการ).-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - ม. ม. 13/156/155.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - ม. ม. ๑๓/๑๕๖/๑๕๕.
ลำดับสาธยายธรรม : 22
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 330
ชื่อบทธรรม : - อนุสัยสามคู่กับเวทนาสาม
เนื้อความทั้งหมด :-(การที่บุคคลละสักกายทิฏฐิเป็นต้นไม่ได้ จนเป็นธรรมชาติมีกำลังถึงกับเขานำออกไม่ได้ นั่นคือลักษณะแห่งความเป็นโอรัมภาคิยสังโยชน์. รายละเอียดของสักกายทิฏฐิ ดูได้ที่หัวข้อว่า “สักกายทิฏฐิ มีได้ด้วยอาการอย่างไร” แห่งหนังสือเล่มนี้ ที่หน้า ๓๗๒).--อนุสัยสามคู่กับเวทนาสาม--ภิกษุ ท. ! เพราะอาศัยตาด้วย รูปทั้งหลายด้วย จึงเกิดจักขุวิญญาณ ; การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการ (ตา+รูป+จักขุวิญญาณ) นั่นคือผัสสะ ; เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง.--บุคคลนั้น เมื่อสุขเวทนาถูกต้องอยู่ ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ; อนุสัยคือราคะ ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น (ตสฺส ราคานุสโย อนุเสติ) ;--เมื่อทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ เขาย่อมเศร้าโศก ย่อมระทมใจ ย่อมคร่ำครวญ ย่อมตีอกร่ำไห้ ย่อมถึงความหลงใหลอยู่ ; อนุสัยคือปฏิฆะ ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น.--เมื่อเวทนาอันไม่ใช่ทุกข์ไม่สุขถูกต้องอยู่ เขาย่อมไม่รู้ตามเป็นจริง ซึ่งเหตุให้เกิดเวทนานั้นด้วย ซึ่งความดับไม่เหลือแห่งเวทนานั้นด้วย ซึ่งอัสสาทะ (รสอร่อย) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่งอาทีนวะ (โทษ) ของเวทนานั้นด้วย ซึ่ง นิสสรณะ (อุบายเครื่องออกพ้นไป) ของเวทนานั้นด้วย ; อนุสัยคืออวิชชา ย่อมตามนอน (เพิ่มความเคยชินให้) แก่บุคคลนั้น.--ภิกษุ ท. ! บุคคลนั้นหนอ ยังละราคานุสัยอันเกิดจากสุขเวทนาไม่ได้ ; ยังบรรเทาปฏิฆานุสัยอันเกิดจากทุกขเวทนาไม่ได้ ; ยังถอนอวิชชานุสัย อันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนาไม่ได้ ; เมื่อยังละอวิชชาไม่ได้ และยังทำวิชชาให้เกิดขึ้นไม่ได้แล้ว, เขาจักทำที่สุดแห่งทุกข์ในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) นี้ได้ นั้น ; ข้อนี้ไม่เป็นฐานะที่จักมีได้.--(ในกรณีแห่ง หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ก็ได้ตรัสโดยทำนองเดียวกันกับในกรณีแห่งตา).-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - อุปริ.ม. 14/516/822.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - อุปริ.ม. ๑๔/๕๑๖/๘๒๒.
ลำดับสาธยายธรรม : 22
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 331
ชื่อบทธรรม : -อนุสัยเนื่องอยู่กับเวทนา
เนื้อความทั้งหมด :-อนุสัยเนื่องอยู่กับเวทนา--ภิกษุ ท. ! เวทนา ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่. สามอย่างเหล่าไหนเล่า ? สามอย่างคือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา.--ภิกษุ ท. ! ราคานุสัยอันเกิดจากสุขเวทนา เป็นสิ่งที่ควรละเสีย. ปฏิฆานุสัยอันเกิดจากทุกขเวทนา เป็นสิ่งที่ควรละเสีย. อวิชชานุสัยอันเกิด จากอทุกขมสุขเวทนา เป็นสิ่งที่ควรละเสีย.--ภิกษุ ท. ! เมื่อใด ราคานุสัยอันเกิดจากสุขเวทนา เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว, ปฏิฆานุสัยอันเกิดจากทุกขเวทนา เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว. อวิชชานุสัยอันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนา เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว ; ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้ไม่มีอนุสัย เป็นผู้เห็นชอบ ตัดตัณหาได้ขาดแล้ว รื้อถอนสังโยชน์ได้แล้ว กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้แล้วเพราะรู้เฉพาะซึ่งมานะโดยชอบ.--(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)--เมื่อบุคคลเสวยสุขเวทนาอยู่ ไม่รู้จักชัดซึ่งเวทนานั้น ราคานุสัยย่อมมีแก่เขาผู้มองไม่เห็นทางออกจากอำนาจของเวทนานั้น. เมื่อบุคคลเสวยทุกขเวทนาอยู่ ไม่รู้จักชัดซึ่งเวทนานั้น ปฏิฆานุสัยย่อมมีแก่เขาผู้มองไม่เห็นทางออกจากอำนาจของเวทนานั้น. บุคคลเพลิดเพลินแม้ในอทุกขมสุข อันพระภูริปัญญาพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเป็นธรรมอันรำงับ ก็หาพ้นจากทุกข์ไปได้ไม่.--เมื่อใดภิกษุ มีความเพียรเผากิเลส ไม่ทอดทิ้งสัมปชัญญะ ก็เป็นบัณฑิต รอบรู้เวทนาทั้งปวง. ภิกษุนั้น เพราะรอบรู้ซึ่งเวทนา จึงเป็นผู้ไม่มีอาสวะในทิฏฐธรรม เป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม จนกระทั่งกายแตก จบเวท ไม่เข้าถึงซึ่งการนับ (ว่าเป็นอะไร) แล.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - สฬา. สํ. 18/254/363-364.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - สฬา. สํ. ๑๘/๒๕๔/๓๖๓-๓๖๔.
ลำดับสาธยายธรรม : 22
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 332
ชื่อบทธรรม : -อนุสัยทั้งสามเกิดได้ แม้เมื่อเสวยทุกขเวทนา
เนื้อความทั้งหมด :-อนุสัยทั้งสามเกิดได้ แม้เมื่อเสวยทุกขเวทนา--ภิกษุ ท. ! บุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ก็เสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง. แม้อริยสาวกผู้มีการสดับ ก็เสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง. ภิกษุ ท. ! เมื่อเป็นเช่นนั้น ในระหว่างอริยสาวกผู้มีการสดับ กับบุถุชนผู้ไม่มีการสดับดังที่กล่าวมานี้ อะไรเป็นความผิดแผกแตกต่างกัน อะไรเป็นความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน อะไรเป็นเหตุที่แตกต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้มีการสดับ จากบุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ?--ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น กราบทูลวิงวอนว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! เป็นการชอบแล้วหนอ ขอให้อรรถแห่งภาษิตนั้น จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเองเถิด ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้” ดังนี้.--ภิกษุ ท. ! บุถุชนผู้ไม่มีการสดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ ย่อมเศร้าโศก ย่อมกระวนกระวาย ย่อมร่ำไรรำพัน เป็นผู้ทุบอกร่ำไห้ ถึงความมีสติฟั่นเฟือน ; เขาย่อมเสวยซึ่งเวทนาทั้ง ๒ ฝ่าย คือเวทนาทั้งทางกายและทางจิต.--ภิกษุ ท. !เปรียบเหมือนบุรุษพึงยิงบุรุษด้วยลูกศร แล้วพึงยิงซ้ำ ซึ่งบุรุษนั้นด้วยลูกศรที่สองอีก บุรุษผู้ถูกยิงด้วยลูกศรสองลูกอย่างนี้ ย่อมเสวยเวทนาทางกายด้วย ทางจิตด้วย, แม้ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! บุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ก็เป็นฉันนั้น คือ เมื่อทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ ย่อมเศร้าโศก ย่อมกระวนกระวาย ย่อมร่ำไรรำพัน เป็นผู้ทุบอกร่ำไห้ ถึงความมีสติฟั่นเฟือนอยู่ ; ชื่อว่าเขาย่อมเสวยซึ่งเวทนาทั้งสองอย่าง คือทั้งทางกายและทางจิต. เขาเป็นผู้มีปฏิฆะเพราะทุกขเวทนานั้นนั่นเอง. ปฏิฆานุสัยอันใด อันเกิดจากทุกขเวทนา, ปฏิฆานุสัยอันนั้น ก็ย่อมนอนตามซึ่งบุถุชนนั้นผู้มีปฏิฆะด้วยทุกขเวทนา. บุถุชนนั้นอันทุกขเวทนาถูกต้องอยู่ ย่อมจะ(น้อมนึก)พอใจซึ่งกามสุข. ข้อนั้น เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่า บุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ย่อมไม่รู้ชัดอุบายเครื่องปลดเปลื้องซึ่งทุกขเวทนาอื่นนอกไปจากกามสุข. เมื่อบุถุชนนั้น พอใจยิ่งอยู่ซึ่งกามสุข, ราคานุสัยอันใด อันเกิดจากสุขเวทนา, ราคานุสัยอันนั้น ย่อมนอนตามซึ่งบุถุชนนั้น. บุถุชนนั้น ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งเหตุให้เกิดขึ้นแห่งเวทนา ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อย ซึ่งโทษอันต่ำทราม และซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกไปพ้น แห่งเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น--ตามที่เป็นจริง, เมื่อบุถุชนนั้น ไม่รู้ชัดอยู่ซึ่งเหตุให้เกิดขึ้น ซึ่งความตั้งอยู่ไม่ได้ ซึ่งรสอร่อย ซึ่งโทษอันต่ำทราม และซึ่งอุบายเป็นเครื่องออกไปพ้น แห่งเวทนาทั้งหลายเหล่านั้น ตามที่เป็นจริงอยู่. อวิชชานุสัยอันใด อันเกิดจากอทุกขมสุขเวทนา, อวิชชานุสัยอันนั้น ย่อมนอนตามซึ่งบุถุชนนั้น. บุถุชนนั้น ถ้าเสวยสุขเวทนาย่อมเป็นผู้ติดพัน (ในเวทนา) เสวยเวทนานั้น; ถ้าเสวยทุกขเวทนา ก็เป็นผู้ติดพันเสวยเวทนานั้น ; ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็เป็นผู้ติดพันเสวยเวทนานั้น.--ภิกษุ ท. ! บุถุชนผู้ไม่มีการสดับนี้ เรากล่าวว่า เป็นผู้ติดพันแล้ว ด้วยชาติชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย ; เรากล่าวว่า เป็นผู้ติดพันแล้วด้วยทุกข์ ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - สฬา. สํ. 18/257-258/369-370.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - สฬา. สํ. ๑๘/๒๕๗-๒๕๘/๓๖๙-๓๗๐.
ลำดับสาธยายธรรม : 22
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site