สัทธรรมลำดับที่ : 18
ชื่อบทธรรม : -ผู้ไม่รู้อริยสัจ
เนื้อความทั้งหมด :-ผู้ไม่รู้อริยสัจ--ย่อมหลงสร้างเหวแห่งความทุกข์เพื่อตัวเอง อยู่ร่ำไป--ภิกษุ ท. ! บุคคลเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ ก็ตาม ไม่รู้ อยู่ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับ--ไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ;” ดังนี้แล้ว ; เขาเหล่านั้น ย่อม ยินดีอย่างยิ่ง ในเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่งชนิดที่เป็นไป--พร้อมเพื่อความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจ. เขาผู้ยินดีในเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่งชนิดนั้น ๆ แล้ว ย่อมก่อสร้างอยู่ ซึ่งเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่งชนิดที่เป็นไปพร้อมเพื่อความเกิด เป็นต้น นั้น ๆ. ครั้นเขาก่อสร้างเหตุปัจจัยนั้น ๆ แล้วเขาก็ตกลงในเหวแห่งความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจ นั่นเอง. เราย่อมกล่าวบุคคลเหล่านั้นว่า “เขา ไม่พ้นไปจากทุกข์ ทั้งหลาย คือความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศกความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจ ไปได้,” ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. 19/560/1729.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๐/๑๗๒๙.
ลำดับสาธยายธรรม : 2
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 19
ชื่อบทธรรม : -ผู้รู้อริยสัจ หาหลงสร้างทุกข์ขึ้นเพื่อตัวเองไม่
เนื้อความทั้งหมด :-ผู้รู้อริยสัจ หาหลงสร้างทุกข์ขึ้นเพื่อตัวเองไม่--ภิกษุ ท. ! ส่วนบุคคลเหล่าใดแล จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ ก็ตามรู้อยู่ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ;” ดังนี้แล้ว ;เขาเหล่านั้น ย่อม ไม่ยินดี ในเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่งชนิดที่เป็นไปพร้อมเพื่อความ เกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจเลย. เขาผู้ไม่ยินดีแล้ว ในเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่งชนิดนั้น ๆ ก็ ไม่ก่อสร้างขึ้น ซึ่งเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่งชนิดที่เป็นไปพร้อมเพื่อความเกิด เป็นต้น นั้น ๆ. ครั้นเขาไม่ก่อสร้างเหตุปัจจัยเครื่องปรุงแต่งชนิดนั้นแล้ว ก็ ไม่ตกจมลงในเหว แห่งความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความ--ร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจได้เลย. เราย่อมกล่าวบุคคลเหล่านั้น ว่า “เขา พ้นไปจากทุกข์ ทั้งหลาย มีความเกิด ความแก่ เป็นต้น ไปได้” ดังนี้.--ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในกรณีนี้ พวกเธอพึง ทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ;” ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. 19/561/1730.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๑/๑๗๓๐.
ลำดับสาธยายธรรม : 2
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 20
ชื่อบทธรรม : -ทุกข์ประเภทใหญ่ ๆ ก็มีพอแล้วสำหรับสัตว์จะสำนึกตัวมารู้อริยสัจ
เนื้อความทั้งหมด :-ทุกข์ประเภทใหญ่ ๆ ก็มีพอแล้วสำหรับสัตว์จะสำนึกตัวมารู้อริยสัจ--(ไม่จำเป็นจะต้องผ่านทุกข์ทุกชนิดทุกขนาด)--ภิกษุ ท. ! ปรียบเหมือนบุรุษ ตัดหญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ นำมารวมไว้ในที่เดียวกัน ; ครั้นนำมารวมไว้ในที่เดียวกันแล้วกระทำให้เป็นเครื่องเสียบร้อย ; ครั้นกระทำให้เป็นเครื่องเสียบร้อยแล้ว ก็เสียบสัตว์ใหญ่ๆ ในมหาสมุทร ที่เครื่องเสียบขนาดใหญ่, เสียบสัตว์ขนาดกลาง ๆ ในมหาสมุทรที่เครื่องเสียบขนาดกลาง, เสียบสัตว์ขนาดเล็ก ๆ ในมหาสมุทร ที่เครื่องเสียบขนาดเล็ก. ภิกษุ ท. ! สัตว์ใหญ่ ๆ ในมหาสมุทรยังไม่ทันจะหมด แต่หญ้าไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ในชมพูทวีปนี้ก็หมดเสียแล้ว. ภิกษุ ท. ! สัตว์ตัวเล็กในมหาสมุทรขนาดที่เสียบด้วยเครื่องเสียบได้โดยยากนั้น มีมากกว่านั้นมากนัก. ข้อนี้เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! เพราะมันมาก โดยตัวมันเล็ก, ข้อนี้ฉันใด ; ภิกษุ ท. ! อบายก็กว้างใหญ่อย่างนั้นเหมือนกัน. จากอบายที่กว้างใหญ่อย่างนั้น--ก็มี ทิฏฐิสัมปันนบุคคล หลุดพ้นออกมาได้ เขารู้ตามเป็นจริงว่า “นี้ ความทุกข์, นี้ เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์, นี้ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, นี้ ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์” ดังนี้.--ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่ เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. 19/551/1719.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๕๑/๑๗๑๙.
ลำดับสาธยายธรรม : 2
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 21
ชื่อบทธรรม : -พอรู้อริยสัจ
เนื้อความทั้งหมด :-พอรู้อริยสัจ--ทุกข์เหลือน้อยขนาดฝุ่นติดปลายเล็บเทียบกับปฐพี--ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้ กับมหาปฐพีนี้ ข้างไหนจะมากกว่ากัน ?--“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละ เป็นดินที่มากกว่า. ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลาพระนขานี้ เป็นของมีประมาณน้อย. ฝุ่นนั้น เมื่อนำไปเทียบกับ มหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่งการคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งกะละภาค”--ภิกษุ ท. ! อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น : สำหรับอริยสาวกผู้ถึงพร้อมด้วย (สัมมา) ทิฏฐิ รู้พร้อมเฉพาะแล้ว, ความทุกข์ของท่านส่วนที่สิ้นไปแล้ว หมดไปแล้ว ย่อมมากกว่า ; ความทุกข์ที่ยังเหลืออยู่ มีประมาณน้อย : เมื่อนำเข้าไปเทียบกับกองทุกข์ที่สิ้นไปแล้ว หมดไปแล้ว ในกาลก่อน ย่อมไม่ถึง--ซึ่งการคำนวณได้เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งกะละภาค นั่นคือความทุกข์ของโสดาบันผู้สัตตักขัตตุปรมะ๑ ผู้เห็นชัดตามเป็นจริงว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.--ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้”, ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. 19/572/1747.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๗๒/๑๗๔๗.
ลำดับสาธยายธรรม : 2
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 22
ชื่อบทธรรม : -ผู้ไม่รู้อริยสัจ ชื่อว่าตกอยู่ในที่มืด
เนื้อความทั้งหมด :-[สูตรอื่นอุปมาเปรียบด้วย เม็ดกรวดเท่าเม็ดถั่วเขียว ๗ เม็ด กับขุนเขาหิมาลัย (๑๙/๕๖๙/๑๗๔๕-๖).--อีกสูตรหนึ่งเปรียบ น้ำติดปลายใบหญ้าคา กับน้ำในสระกว้าง ๕๐ โยชน์ (๑๙/๕๗๒/๑๗๔๘).--อีกสูตรหนึ่งเปรียบ น้ำ ๒-๓ หยด กับน้ำในแม่น้ำ ๕ สายรวมกัน (๑๙/๕๗๓/๑๗๔๙-๑๗๕๐).--อีกสูตรหนึ่งเปรียบ เม็ดกระเบา ๗ เม็ด กับมหาปฐพี (๑๙/๕๗๔/๑๗๕๑-๒).--อีกสูตรหนึ่งเปรียบ น้ำ ๒ - ๓ หยด กับน้ำทั้งมหาสมุทร (๑๙/๕๗๕/๑๗๕๓-๔).--อีกสูตรหนึ่งเปรียบ เม็ดผักกาด ๒ - ๓ เม็ด กับขุนเขาหิมาลัย (๑๙/๕๗๖/๑๗๕๕-๖).]--ผู้ไม่รู้อริยสัจ ชื่อว่าตกอยู่ในที่มืด--ภิกษุ ท. ! บุคคลเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ ก็ตาม ไม่รู้ อยู่ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือ--๑. คือพระโสดาบัน ที่ต้องมีกำเนิดอีก ๗ ชาติ อันเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นที่สุดของจำพวกโสดาบัน. แม้กระนั้น ก็ตรัสว่า ทุกข์หมดไปมากกว่าที่ยังเหลือ.--ของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ;” ดังนี้, เขาเหล่านั้น ย่อมยินดี ต่อสิ่งอันเป็นปัจจัยปรุงแต่งที่เป็นไปพร้อมเพื่อความเกิดเป็นต้น, เขายินดีแล้ว ก็ สร้างปัจจัยนั้น ๆ, ครั้นก่อสร้างแล้ว ก็ ตกจมลงสู่ห้วงแห่งความมืดอันกระทำให้เป็นเหมือนตาบอด ได้แก่ความมืด คือความเกิดความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความคับใจ. ภิกษุ ท. ! บุคคลเหล่านั้น เรากล่าวว่า เขาไม่พ้นไปจากทุกข์ คือความเกิดเป็นต้น ไปได้เลย.--ภิกษุ ท. ! ส่วนบุคคลเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ ก็ตามเมื่อรู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์. นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”, ดังนี้ ; บุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ยินดี ต่อสิ่งอันเป็นปัจจัยปรุงแต่ง ที่เป็นไปพร้อมเพื่อความเกิดเป็นต้น, เขาผู้ไม่ยินดีแล้ว ย่อมไม่ก่อสร้างปัจจัยนั้น ๆ ขึ้น (เพื่อตัวเอง), ครั้นไม่ก่อสร้างแล้ว ก็ไม่ตกจมลงสู่ห้วงแห่งความมืด อันกระทำให้เป็นเหมือนตาบอด ได้แก่ความมืดคือความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ. ภิกษุ ท. ! เรา กล่าวว่า เขาพ้นไปจากทุกข์ คือความเกิดเป็นต้นไปได้ ดังนี้.--ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. 19/567/1741-1742.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๗/๑๗๔๑-๑๗๔๒.
ลำดับสาธยายธรรม : 2
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 23
ชื่อบทธรรม : -ผู้ไม่รู้อริยสัจ ชื่อว่าตกอยู่ในหลุมเพลิงเป็นนิจ
เนื้อความทั้งหมด :-ผู้ไม่รู้อริยสัจ ชื่อว่าตกอยู่ในหลุมเพลิงเป็นนิจ--ภิกษุ ท. ! บุคคลเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ ก็ตาม เมื่อไม่รู้อยู่ตามเป็นจริง ว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์ ;”ดังนี้, เขาเหล่านั้น ย่อมยินดี ต่อสิ่งอันเป็นปัจจัยปรุงแต่ง ที่เป็นไปพร้อมเพื่อความเกิด เป็นต้น, เขาผู้ยินดีแล้ว ย่อมก่อสร้างปัจจัยนั้น ๆ ขึ้น (เพื่อตัวเอง), ครั้นก่อสร้างแล้ว ก็ เร่าร้อนอยู่ เพราะความแผดเผา ของความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับใจ. ภิกษุ ท. ! บุคคลเหล่านั้น เรากล่าวว่า เขาไม่พ้นไปจากทุกข์ คือความเกิด เป็นต้น ไปได้เลย.--ภิกษุ ท. ! ส่วนบุคคลเหล่าใด จะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ ก็ตามเมื่อรู้ชัดตามเป็นจริงว่า “นี้เป็นทุกข์, นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์, นี้เป็นความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์”, ดังนี้ ; บุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ยินดี ต่อสิ่งอันเป็นปัจจัยปรุงแต่ง ที่เป็นไปพร้อมเพื่อความเกิดเป็นต้น, เขาผู้ไม่ยินดีแล้ว ย่อมไม่ก่อสร้างปัจจัยนั้น ๆ ขึ้น (เพื่อตัวเอง), ครั้นไม่ก่อสร้างแล้ว ก็ไม่เร่าร้อนอยู่ เพราะความแผดเผาของความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และ ความคับแค้นใจ. บุคคลเหล่านั้น ย่อมหลุดพ้นไปจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ. เรากล่าวว่า เขาหลุดพ้นไปได้จากทุกข์ ดังนี้.--ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์ เป็นอย่างนี้, เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้.” ดังนี้.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. 19/563/1733-1734.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๓/๑๗๓๓-๑๗๓๔.
ลำดับสาธยายธรรม : 2
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site
สัทธรรมลำดับที่ : 24
ชื่อบทธรรม : -กว่ามนุษย์จะหลุดจากบ่วง (คือรู้อริยสัจ)
เนื้อความทั้งหมด :-กว่ามนุษย์จะหลุดจากบ่วง (คือรู้อริยสัจ)--(พระบาลีนี้ แสดงให้เห็นถึงการที่สามัญสัตว์ติดอยู่ในบ่วงของโลกอย่างไรในขั้นต้นแล้วจะค่อยๆ รู้สึกตัวขึ้นมาตามลำดับอย่างไร ดังต่อไปนี้ :-)--๑. เมื่อจมกามตามปกติ--ภิกษุ ท. ! ชาวสวนผักมิได้ปลูกผักด้วยคิดว่า “เนื้อในป่าทั้งหลายจะได้กินผักที่เราปลูกนี้แล้ว จะได้มีอายุยืน รูปร่างสวยงาม มีชีวิตอยู่ได้ยาวนาน” ดังนี้ ; แต่ได้คิดดังนี้ว่า “เนื้อในป่าทั้งหลายจะเข้ามาสู่สวนผักอันเราปลูกแล้วกินอยู่อย่างลืมตัว ครั้นเข้ามากินอยู่อย่างลืมตัว จักถึงซึ่งความเลินเล่อ ครั้นเลินเล่ออยู่จักถึงซึ่งความประมาท ครั้นประมาทแล้วจักเป็นสัตว์ที่เราพึงกระทำได้ ตามความพอใจในสวนผักนั้น” ดังนี้.--ภิกษุ ท. ! บรรดาเนื้อทั้งหลาย ฝูงเนื้อพวกที่หนึ่งได้เข้าไปสู่สวนผักที่ชาวสวนผักปลูกไว้ กินอยู่อย่างลืมตัว เมื่อเข้าไปกินอยู่อย่างลืมตัวก็ถึงซึ่งความเลินเล่อ ครั้นเลินเล่อแล้วก็ถึงซึ่งความประมาท ครั้นประมาทแล้วก็เป็นสัตว์ที่--เจ้าของสวนผักพึงกระทำได้ตามความพอใจในสวนผักนั้น. ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ฝูงเนื้อพวกที่หนึ่งเหล่านั้นก็ไม่พ้นไปจากกำมือแห่งเจ้าของสวนผัก.--(พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงยกเอาสมณพราหมณ์จำพวกที่หนึ่งมาเปรียบกันกับ ฝูงเนื้อจำพวกที่หนึ่ง ดังต่อไปนี้ :-)--ภิกษุ ท. ! บรรดาสมณพราหมณ์ทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่หนึ่งได้ เข้าไปสู่โลกามิส เหล่าโน้น ซึ่งเป็นเหมือนกับสวนผักอันมารปลูกไว้ บริโภคอยู่อย่างลืมตัว ครั้นเข้าไปบริโภคอยู่อย่างลืมตัวก็ถึงซึ่งความมัวเมา ครั้นมัวเมาอยู่ก็ถึงซึ่งความประมาท ครั้นประมาทอยู่ก็เป็นผู้ที่มารพึงกระทำได้ตามความพอใจ ในโลกามิสซึ่งเป็นเหมือนกับสวนผักแห่งมารนั้น. ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล สมณพราหมณ์พวกที่หนึ่งนี้ จึงไม่พ้นไปจากอิทธานุภาพแห่งมาร. ภิกษุ ท. !เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่หนึ่งนี้ ว่ามีอุปมาเหมือนฝูงเนื้อพวกที่หนึ่งนั้น, ฉันใดก็ฉันนั้น.--ภิกษุ ท. ! อุปมานี้มีเพื่อให้รู้เนื้อความนั้น : คำว่า “สวนผัก” นั้นเป็นชื่อแห่งกามคุณทั้งห้า. คำว่า “เจ้าของสวนผัก” นั้น เป็นชื่อของมารผู้มีบาป. คำว่า “พวกพ้องของเจ้าของสวนผัก” นั้น เป็นชื่อของบริษัทแห่งมาร. คำว่า “ฝูงเนื้อ” นั้น เป็นชื่อของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย. (คำไขอุปมานี้ ตรัสไว้ ตอนกลางของพระสูตรที่ตรัสเรื่องเนื้อพวกที่สี่จบลง ในที่นี้ได้ยกมาไว้ตอนต้นเช่นนี้ เพื่อสะดวก แก่การศึกษายิ่งขึ้น).--๒. เมื่อจมกามครั้งที่สอง--(ต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงฝูงเนื้อจำพวกที่สอง ซึ่งเปรียบกันได้กับสมณพราหมณ์จำพวกที่สอง ว่า :-)--ภิกษุ ท. ! เนื้อพวกที่สอง (รู้ความวินาศของเนื้อจำพวกที่หนึ่งโดยประการทั้งปวงแล้ว) มาคิดกันว่า “ถ้าอย่างไร เราเว้นการกินผักซึ่งเป็นโภชนะอันตรายเหล่านี้โดยประการทั้งปวงเสีย เข้าไปอยู่ในราวป่ากันเถิด” ดังนี้. เนื้อเหล่านั้น เว้นการกินผัก ซึ่งเป็นโภชนะอันตรายเหล่านั้นโดยประการทั้งปวง แล้วเข้าไปอยู่ในราวป่า แล้ว ; ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนเป็นเวลาที่หมดหญ้าและน้ำ ร่างกายก็ถึงซึ่งความซูบผอมอย่างยิ่ง เมื่อมีร่างกายซูบผอมอย่างยิ่งกำลังอันแกล้วกล้าก็หมดไป เมื่อกำลังอันแกล้วกล้าหมดไป ก็ ย้อนกลับมาสู่ถิ่นแห่งสวนผัก ที่เจ้าของสวนผักปลูกไว้อีก. ฝูงเนื้อเหล่านั้น ได้เข้าไป กินผักในสวนผักอย่างลืมตัว เมื่อเข้าไปกินอยู่อย่างลืมตัวก็ถึงซึ่งความเลินเล่อ เมื่อเลินเล่อก็ถึงซึ่งความประมาท เมื่อประมาทก็เป็นสัตว์ที่เจ้าของสวนผักกระทำได้ตามความพอใจในสวนผักนั้น. ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ฝูงเนื้อพวกที่สองนั้นก็ไม่พ้นไป จากกำมือแห่งเจ้าของสวนผัก.--(พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงยกเอาสมณพราหมณ์จำพวกที่สองมาเปรียบกับฝูงเนื้อ จำพวกที่สอง ดังนี้ว่า :-)--ภิกษุ ท. ! บรรดาสมณพราหมณ์ทั้งหลาย สมณพราหมณ์จำพวกที่สอง (รู้ความวินาศของสมณพราหมณ์จำพวกที่หนึ่งโดยประการทั้งปวงแล้ว) มาคิดกันว่า “ถ้ากระไร เราเว้นจากโลกามิสซึ่งเป็นเสมือนการบริโภคเหยื่อโดยประการทั้งปวงเสีย เว้นจากโภชนะอันตราย แล้วเข้าไปอาศัยอยู่ในราวป่ากันเถิด” ดังนี้. สมณพราหมณ์เหล่านั้น เว้นจากโลกามิส อันเป็นเสมือนการบริโภคเหยื่อโดยประการทั้งปวง เว้นโภชนะอันตราย พากันเข้าไปอยู่ในราวป่าแล้ว. สมณพราหมณ์เหล่านั้น เป็นผู้มีผักสากะเป็นภักษาบ้าง มีผักสามากะเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีเปลือกไม้เป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง--มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีเมล็ดผักกาดเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเง่าไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร ยังอัตภาพให้เป็นไป เป็นผู้บริโภคผลตามที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ; ครั้นถึงเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน เป็นเวลาที่หมดผักหมดหญ้าหมดน้ำ ร่างกายก็ถึงซึ่งความซูบผอมอย่างยิ่ง เมื่อมีร่างกายซูบผอมอย่างยิ่งกำลังเรี่ยวแรงก็หมดไป เมื่อกำลังเรี่ยวแรงหมดไปเจโตวิมุตติก็เสื่อม เมื่อเจโตวิมุตติเสื่อม ก็ ย้อนกลับมาหาโลกามิส ซึ่งเป็นเสมือนกับสวนผักอันมารปลูกไว้เหล่านั้นอีก. สมณพราหมณ์เหล่านั้น เข้าไป บริโภคอยู่อย่างลืมตัว ครั้นเข้าไปบริโภคอยู่อย่างลืมตัวก็ถึงซึ่งความมัวเมา ครั้นมัวเมาอยู่ก็ถึงซึ่งความประมาท ครั้นประมาทแล้วก็เป็นผู้ที่มารพึงกระทำได้ตามความพอใจ ในโลกามิสอันเป็นเสมือนสวนผักของมารนั้น. ภิกษุ ท. ! ด้วย--อาการอย่างนี้แล สมณพราหมณ์แม้พวกที่สองนี้ก็ไม่พ้นไปจากอิทธานุภาพแห่งมาร. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่สองนี้ ว่ามีอุปมาเหมือนฝูงเนื้อพวกที่สองนั้น, ฉันใดก็ฉันนั้น.--๓. เมื่อเฉไปติดบ่วงทิฏฐิ--(ต่อไปนี้ได้ตรัสถึงฝูงเนื้อพวกที่สาม ซึ่งเปรียบกันได้กับสมณพราหมณ์จำพวกที่สามสืบไปว่า :-)--ภิกษุ ท. ! ฝูงเนื้อพวกที่สาม (รู้ความวินาศของเนื้อจำพวกที่หนึ่งและจำพวกที่สอง โดยประการทั้งปวงแล้ว) มาคิดกันว่า “ถ้าอย่างไร เรา อาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ใกล้ ๆ สวนผัก ของเจ้าของผักนั้น ครั้นอาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ใกล้ ๆ สวนผักนั้นแล้ว ก็ ไม่เข้าไปกินผักนั้นอย่างลืมตัว เมื่อไม่เข้าไปกินอย่างลืมตัวอยู่--ก็ไม่ถึงซึ่งความเลินเล่อ เมื่อไม่เลินเล่ออยู่ก็ถึงซึ่งความไม่ประมาท เมื่อไม่ประมาทก็ไม่เป็นสัตว์ที่ใคร ๆ จะพึงทำอะไร ๆ ได้ตามความพอใจในสวนผักของเจ้าของผักนั้น” ดังนี้. ฝูงเนื้อเหล่านั้น (ก็ประพฤติกระทำตามความคิดนั้น). ภิกษุ ท. ! ความคิดได้เกิดแก่เจ้าของสวนผักกับบริวารเหล่านั้นว่า “ฝูงเนื้อพวกที่สามเหล่านี้คงจะมีเล่ห์เหลี่ยมกลโกงเหมือนมีฤทธิ์เป็นแน่ ฝูงเนื้อพวกที่สามนี้ คงจะเป็นสัตว์พิเศษชนิดอื่นเป็นแน่ มันจึงมากินผักที่เราปลูกนี้ได้. และเราก็ไม่เข้าใจการมาการไปของมัน. ถ้ากระไรเราพึงล้อมซึ่งที่นั้นโดยรอบ ด้วยเครื่องล้อมชนิดทัณฑวาคุระใหญ่ๆ ทั้งหลาย เราคงจะได้เห็นที่ซุ่มซ่อนของฝูงเนื้อพวกที่สาม อันเป็นที่ซึ่งมันแอบเข้ามากิน” ดังนี้. ชนเหล่านั้นได้ทำการล้อมพื้นที่ปลูกผักนั้นโดยรอบด้วยเครื่องล้อมชนิดทัณฑวาคุระใหญ่ ๆ ทั้งหลายแล้ว. ภิกษุ ท. ! เจ้าของสวนผัก และบริวารก็หา พบที่ซุ่มซ่อนของฝูงเนื้อพวกที่สาม อันเป็นที่ซึ่งมันแอบเข้ามากิน. ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ฝูงเนื้อแม้พวกที่สามนั้น ไม่พ้นไปจากกำมือของเจ้าของสวนผัก.--(พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงยกเอาสมณพราหมณ์จำพวกที่สาม มาเปรียบกับฝูงเนื้อจำพวกที่สาม ดังนี้ว่า :-)--ภิกษุ ท. ! บรรดาสมณพราหมณ์ทั้งหลาย สมณพราหมณ์จำพวกที่สาม (รู้ความวินาศของสมณพราหมณ์จำพวกที่หนึ่งและที่สอง โดยประการทั้งปวงแล้ว) มาคิดกันว่า “ถ้ากระไร เราจะ อาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ใกล้ ๆ โลกามิสซึ่งเปรียบเสมือนสวนผักของมาร ครั้นอาศัยอยู่ในที่ซุ่มซ่อนนั้นแล้ว จัก ไม่เข้าไปบริโภคโลกามิส อันเป็นเสมือนสวนผักแห่งมารนั้น อย่างลืมตัว ครั้นไม่เข้าไปบริโภคอย่างลืมตัวอยู่ ก็ไม่ถึงซึ่งความมัวเมา เมื่อไม่มัวเมาอยู่ก็ไม่ถึงซึ่งความประมาท เมื่อไม่ประมาทอยู่ก็เป็นผู้ที่มารจะพึงกระทำตามความพอใจไม่ได้ อยู่ในโลกามิสอันเป็นเสมือนสวนผักแห่งมารนั้น” ดังนี้. สมณพราหมณ์เหล่านั้น--(ก็ได้ประพฤติกระทำตามความคิดนั้น ) ; ก็แต่ว่าสมณพราหมณ์เหล่านั้นได้เป็นผู้มีทิฏฐิ ขึ้นมาแล้วอย่างนี้ว่า “โลกเที่ยง” ดังนี้บ้าง ; ว่า “โลกไม่เที่ยง” ดังนี้บ้าง ; ว่า “โลกมีที่สุด” ดังนี้บ้าง ; ว่า “โลกไม่มีที่สุด” ดังนี้บ้าง ; ว่า “ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น” ดังนี้บ้าง ; ว่า “ชีวะก็อันอื่น สรีระก็อันอื่น” ดังนี้บ้าง ; ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมมีอีก” ดังนี้บ้าง ; ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมไม่มีอีก” ดังนี้บ้าง ; ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมมีอีกก็มีไม่มีอีกก็มี” ดังนี้บ้าง ; ว่า “ตถาคตภายหลังแต่ตายแล้ว ย่อมมีอีกก็หามิได้ไม่มีอีกก็หามิได้” ดังนี้บ้าง. ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล สมณพราหมณ์แม้พวกที่สามนี้ ก็ไม่พ้นไปจากอิทธานุภาพแห่งมาร. ภิกษุ ท. ! เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่สามนี้ ว่ามีอุปมาเหมือนฝูงเนื้อพวกที่สามนั้น, ฉันใดก็ ฉันนั้น.--๔. เมื่อพ้นจากบ่วง--(ต่อไปนี้ได้ตรัสถึงฝูงเนื้อพวกที่สี่ ซึ่งเปรียบกันได้กับสมณพราหมณ์จำพวกที่สี่ สืบปว่า :-)--ภิกษุ ท. ! ฝูงเนื้อพวกที่สี่ (รู้ความวินาศของเนื้อพวกที่หนึ่ง พวกที่สอง และพวกที่สาม โดยประการทั้งปวงแล้ว) มาคิดกันว่า “ถ้าอย่างไร เราอาศัยซุ่มซ่อนอยู่ในที่ซึ่งเจ้าของสวนผักและบริวารไปไม่ถึง ครั้นอาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ในที่ซึ่งเจ้าของสวนผักและบริวารไปไม่ถึง จะ ไม่ลืมตัวเข้าไปกินผัก ที่เจ้าของสวนผักปลูก จะไม่ถึงซึ่งความเลินเล่อ เมื่อไม่เลินเล่อจักไม่ถึงซึ่งความประมาทเมื่อไม่ประมาทแล้วก็ไม่เป็นสัตว์ที่ใคร ๆ พึงทำอะไร ๆ ได้ตามความพอใจ ในสวน--ผักของเจ้าของผักนั้น. ฝูงเนื้อเหล่านั้น (ก็ประพฤติกระทำตามความคิดนั้น). ภิกษุ ท. ! ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เจ้าของสวนผักกับบริวารเหล่านั้นว่า “ฝูงเนื้อพวกที่สี่เหล่านี้ คงจะมีเล่ห์เหลี่ยมกลโกงเหมือนมีฤทธิ์เป็นแน่ ฝูงเนื้อพวกที่สี่นี้คงจะเป็นสัตว์พิเศษชนิดอื่นเป็นแน่ มันจึงมากินผักที่เราปลูกนี้ได้, และเราก็ไม่เข้าใจการมาการไปของมัน. ถ้ากระไร เราพึงล้อมซึ่งที่นั้นโดยรอบด้วยเครื่องล้อมชนิดทัณฑวาคุระใหญ่ ๆ ทั้งหลาย เราคงจะได้เห็นที่ซุ่มซ่อนของฝูงเนื้อพวกที่สี่ อันเป็นที่ซึ่งมันแอบเข้ามากิน” ดังนี้. ชนเหล่านั้นได้ทำการล้อมพื้นที่ปลูกผักนั้นโดยรอบ ด้วยเครื่องล้อมชนิดทัณฑวาคุระใหญ่ ๆ ทั้งหลายแล้ว. ภิกษุ ท. !เจ้าของสวนผักและบริวารไม่ได้พบที่ซุ่มซ่อนของฝูงเนื้อพวกที่สี่ อันเป็นที่ซึ่งมันแอบเข้ามากิน. ภิกษุ ท. ! ความคิดได้เกิดขึ้นแก่เจ้าของสวนผักและบริวารว่า “ถ้าเราทำฝูงเนื้อพวกที่สี่ให้แตกตื่นแล้ว มันก็จะทำให้ฝูงอื่นแตกตื่นด้วย ด้วยการทำอย่างนี้ฝูงเนื้อทั้งปวงก็เริศร้างไปจากผักที่เราปลูกไว้ ถ้ากระไรเราพึงทำความพยายามเจาะจง (ทำความแตกตื่น) แก่เนื้อพวกที่สี่” ดังนี้. ภิกษุ ท. ! เจ้าของ สวนผักและบริวารได้ทำความพยายามเจาะจง (ทำความแตกตื่น) แก่ฝูงเนื้อพวก ที่สี่แล้ว. ภิกษุ ท. ! ด้วยอาการอย่างนี้แล ฝูงเนื้อพวกที่สี่นั้นก็พ้นไปจากกำมือ ของเจ้าของสวนผัก.--(พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงยกเอาสมณพราหมณ์จำพวกที่สี่ มาเปรียบกับฝูงเนื้อ จำพวกที่สี่ ดังนี้ว่า :- )--ภิกษุ ท. ! บรรดาสมณพรหมณ์ทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่สี่ (รู้ความวินาศของสมณพราหมณ์จำพวกที่หนึ่ง ที่สอง และที่สาม โดยประการทั้งปวงแล้ว) มาคิดกันว่า “ถ้ากระไร เรา อาศัยที่ซุ่มซ่อนอยู่ในที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึง ครั้นอาศัยซุ่มซ่อนอยู่ในที่นั้นแล้ว จะ ไม่ลืมตัวเข้าไปบริโภคโลกามิส ซึ่งเป็นเสมือนสวนผักที่มารปลูกไว้ เมื่อไม่ลืมตัวเข้าไปกินก็ไม่--ถึงซึ่งความมัวเมา เมื่อไม่มัวเมาก็ไม่ถึงซึ่งความประมาท เมื่อไม่ประมาทก็จักเป็นผู้ที่มารไม่ทำอะไรๆได้ตามความพอใจในโลกามิสซึ่งเป็นเสมือนสวนผักที่มารปลูกไว้”ดังนี้. สมณพราหมณ์เหล่านั้น (ก็ได้ประพฤติกระทำตามความคิดนั้น). ภิกษุ ท. !ด้วยอาการอย่างนี้แล สมณพราหมณ์พวกที่สี่นี้ ก็พ้นไปจากอิทธานุภาพของมาร.ภิกษุ ท. ! เรากล่าวสมณพราหมณ์พวกที่สี่นี้ ว่ามีอุปมาเหมือนฝูงเนื้อพวกที่สี่นั้น, ฉันใดก็ฉันนั้น.--ภิกษุ ท. ! ที่ซึ่งมารและบริวารของมารไปไม่ถึงนั้น เป็นอย่างไร เล่า ? ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้คือ ภิกษุ เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายจึงเข้าถึง ปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้ เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอดไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้วซึ่งจักษุแห่งมาร ไปแล้วสู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น.--(ต่อไปนี้ ได้ตรัสถึงการบรรลุ ทุติยฌาน - ตติยฌาน - จตุตถฌาน - อากาสานัญจายตนะ - วิญญาณัญจายตนะ - อากิญจัญญายตนะ – เนวสัญญานาสัญญายตนะ ว่าเป็นที่ซึ่งมารไปไม่ถึง โดยนัยเดียวกันกับการบรรลุปฐมฌาน เป็นลำดับไป, จนกระทั่งถึงสัญญาเวทยิตนิโรธโดยข้อความสืบต่อไปว่า :-)--ภิกษุ ท. ! ยิ่งไปกว่านั้นอีก : ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เข้าถึงซึ่ง สัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่, และเพราะเห็นแล้วด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายของเธอก็สิ้นไปรอบ. ภิกษุ ท. ! ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้ทำมารให้เป็นผู้ตาบอดไม่มีร่องรอย กำจัดเสียแล้วซึ่งจักษุแห่งมาร ไปแล้วสู่ที่ซึ่งมารผู้มีบาปมองไม่เห็น ได้ข้ามแล้วซึ่งตัณหาในโลก, ดังนี้แล.--(คำว่า “เห็นแล้วด้วยปัญญา” ในที่นี้ คือเห็นทุกข์, เหตุให้เกิดทุกข์, ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, และเห็นอาสวะ, เหตุให้เกิดอาสวะ, ความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ, ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งอาสวะ, จนเป็นผู้สิ้นอาสวะ ซึ่งเรียกว่า “การพ้นจากบ่วง”.)-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - มู. ม. 12/298-311/301-311.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - มู. ม. ๑๒/๒๙๘-๓๑๑/๓๐๑-๓๑๑.
ลำดับสาธยายธรรม : 2
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site