สัทธรรมลำดับที่ : 585
ชื่อบทธรรม : -ผู้ลวงมัจจุราชให้หลง
เนื้อความทั้งหมด :-ผู้ลวงมัจจุราชให้หลง--ภิกษุ ท. ! ปุถุชน ผู้ไม่ได้ยิน ได้ฟัง ย่อมพูดว่า ‘สมุทร-สมุทร’ ดังนี้. ภิกษุ ท. ! สมุทรเช่นที่กล่าวนั้น ไม่ใช่สมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า. ภิกษุ ท. ! สมุทรเช่นที่กล่าวนั้น เป็นเพียงแอ่งน้ำใหญ่ เป็นเพียงห้วงน้ำใหญ่.--ภิกษุ ท. ! รูป ที่เห็นด้วยตา อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่น่าพอใจ ที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ และเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่. ภิกษุ ท. ! นี้เราเรียกว่า ‘สมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า’. โลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก, หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ โดยมากตกอยู่จมอยู่ในสมุทรนั้น. เป็นสัตว์ที่มีความใคร่ มีจิตยุ่งเหมือนกลุ่มด้าย เกิดประสานกันสับสนดุจรังนก เหมือนพงหญ้ามุญชะและปัพพชะ, สัตว์ทั้งหลายในสมุทรนั้น จึงไม่ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏฏ์ไปได้.--ภิกษุ ท. ! เสียง ที่ฟังด้วยหู .... ฯลฯ ....--ภิกษุ ท. ! กลิ่น ที่ดมด้วยจมูก .... ฯลฯ ....--ภิกษุ ท. ! รส ที่ลิ้มด้วยลิ้น .... ฯลฯ ....--ภิกษุ ท. ! โผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยกาย .... ฯลฯ ....--ภิกษุ ท. ! ธรรมารมณ์ ที่รู้ด้วยใจ อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่และเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่. ภิกษุ ท. ! เหล่านี้เราเรียกว่า ‘สมุทรใน วินัยของพระอริยเจ้า’. โลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก, หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ โดยมากตกอยู่จมอยู่--ในสมุทรนั้น. เป็นสัตว์ที่มีความใคร่ มีจิตยุ่งเหมือนกลุ่มด้าย เกิดประสาน กันสับสนดุจรังนก เหมือนพงหญ้ามุญชะและปัพพชะ, สัตว์ทั้งหลายในสมุทรนั้น จึงไม่ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏฏ์ไปได้.--(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)--ราคะ โทสะ และอวิชชา ของท่านผู้ใด จางคลายไปแล้ว ท่านผู้นั้นชื่อว่า ข้ามสมุทรนี้ได้แล้ว ซึ่งเป็นแหล่งที่มีสัตว์ร้าย มีทั้งรากษส มีทั้งคลื่นวังวน ภัยน่ากลัว แสนจะข้ามได้ยากนัก. เราตถาคตกล่าวว่าท่านนั้น เป็นผู้ล่วงเสียได้จากเครื่องข้อง ละขาดจากการต้องตาย ไม่มีอุปธิกิเลส ; ท่านนั้น หย่าขาดจากความทุกข์ที่ต้องมาเกิดอีกต่อไป ; ท่านนั้นมอดดับไป ไม่กลับอีก ลวงเอาพญามัจจุราชให้หลงได้ ดังนี้แล.-
อ้างอิงสุตันตปิฎก : - สฬา. สํ. 18/196/287-288.
อ้างอิงบาลีสุตันตปิฎก : - สฬา. สํ. ๑๘/๑๙๖/๒๘๗-๒๘๘.
ลำดับสาธยายธรรม : 39
อ้างอิงภาษาบาลี เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
อ้างอิงภาษาไทย เล่ม/หน้า/ข้อ : เสนอและยืนยัน
เลื่อกที่จะตรวจสอบการอ้างอิงในสุตันตปิฎกดังนี้
ตรวจสอบสุตันตปิฎกบาลี ตรวจสอบสุตันตปิฎกไทย
### Online to checking with open Etipitaka Site